ไกด์ชาวไทยในภูเก็ตกว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือถึงพ่อเมือง วอนช่วยแก้ 3 ปัญหาเดือดร้อน เพื่อร่วมกันหาทางออก พร้อมวอนจัดการกับไกด์เถื่อนชาวต่างชาติอย่างเด็ดขาด...
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 2 พ.ย. ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายกฤช เทพบำรุง นายกสมาคมมัคคุเทศก์อันดามัน พร้อมด้วยสมาชิกสมาคมมัคคุเทศก์อันดามันและกลุ่มมัคคุเทศก์อาชีพใน จ.ภูเก็ตกว่า 100 คนเข้ามอบดอกไม้ให้กำลังใจและยื่นหนังสือถึงนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผวจ.ภูเก็ต กรณีมัคคุเทศก์ไทยที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายได้รับความเดือดร้อนใน 3 ประเด็นหลักๆ คือ 1.กรณีการจัดการกับไกด์เถื่อนชาวต่างชาติ 2.กรณีที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายเรื่องบัตรอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ 3.กรณีการแลกบัตรเข้าพื้นที่ควบคุมของท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ทั้งนี้ ผวจ.ภูเก็ต ได้มอบหมายให้นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รอง ผวจ.ภูเก็ตรับเรื่องราวร้องทุกข์ดังกล่าว โดยมีนายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช ปลัดจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมรับฟัง
นายกฤช กล่าวว่า ตนและสมาชิกสมาคม รวมถึงเพื่อนมัคคุเทศก์อาชีพต้องการจะมามอบดอกไม้ต้อนรับ รวมถึงให้กำลังใจกับ ผวจ.และรอง ผวจ.ภูเก็ตในโอกาสเดินทางมารับตำแหน่งใหม่ พร้อมกันนี้ยังได้นำหนังสือข้อเรียกร้องมายื่น เพื่อหวังให้ทางจังหวัดช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนใน 3 ประเด็นหลักๆ คือ ประเด็นที่ 1 กรณีการจัดการกับไกด์เถื่อนชาวต่างชาติที่ไม่ได้มีจำนวนลดลงไปจากอดีต ถึงแม้จะมีความพยายามเข้มงวดกวดขันจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดกวดขันแต่กับเฉพาะไกด์สัญชาติไทยที่ผ่านการอบรมจากกรมการท่องเที่ยวและมีบัตรถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลให้ไกด์ต่างชาติยังคงมีจำนวนมากเช่นเดิม และไกด์ชาวไทยได้รับความเดือดร้อนถูกมองเป็นจำเลยสังคม เช่น กรณีการตรวจสอบใบสั่งงานมัคคุเทศก์ (JOB ORDER) เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะตรวจเข้มกับไกด์ชาวไทย บางครั้งผู้เป็นไกด์วางใบสั่งงานมัคคุเทศก์ (JOB ORDER) ไว้ในรถ เพราะไม่สะดวกในการนำติดตัว แต่จะใช้วิธีถ่ายเก็บไว้ในโทรศัพท์หรือเปิดจากแอปพลิเคชันบนมือถือแสดงให้เจ้าหน้าที่ดูมักจะถูกจับปรับดำเนินคดี ซึ่งสมาคมได้สอบถามไปยังสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ซึ่งได้คำตอบว่าไม่จำเป็นต้องใช้ใบจริง แต่สามารถใช้วิธีการอื่นได้ เช่น ถ่ายเก็บในโทรศัพท์มือถือหรือเปิดจากแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเองยังไม่มีความเข้าใจที่มากพอ
...
อีกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น คือ มีไกด์คนหนึ่งพานักท่องเที่ยวไปส่งสนามบินภูเก็ต แต่ระหว่างที่ไปนั้นนักท่องเที่ยวขอแวะซื้อรองเท้าที่ห้างสรรพสินค้า ระหว่างที่รอ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาจับกุมและพาตัวไปที่สถานีตำรวจในฐานความผิดไม่มีใบสั่งงานมัคคุเทศก์ (JOB ORDER) แต่เมื่อไปถึงสถานีตำรวจ ปรากฏว่าไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ ส่งผลให้ไกด์ชาวไทยในสายตานักท่องเที่ยวดูแย่ เป็นจำเลยสังคม เหมือนไม่ใช่ทูตวัฒนธรรมที่ควรจะเป็น ประเด็นที่ 2 เรื่องที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายบัตรอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ของมัคคุเทศก์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนกับสิ่งที่มัคคุเทศก์ทุกคนได้ผ่านการอบรมมาแล้ว และในการอบรมนั้น พบว่าศักยภาพการบริหารจัดการอบรมของกรมอุทยานมีน้อย สามารถจัดการอบรมได้เพียงรุ่นละ 200 คน เฉลี่ยปีละ 4 รุ่น 1,000 คน และขณะนี้มีการอบรมฯมาแล้วประมาณ 4 รุ่นหรือประมาณ 1,000 คน แต่ที่จังหวัดภูเก็ตมีไกด์อยู่ประมาณ 9,000 คน อาจต้องใช้เวลายาวนานถึง 9 ปี หากมีการบังคับในขณะนี้จะทำให้ไกด์อีก 8,000 คน ได้รับผลกระทบทันที
ทั้งนี้สมาคมต้องการสนับสนุนให้มีการอบรมดังกล่าว แต่ไม่อยากให้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในขณะนี้ และในประเด็นที่ 3 อยากเรียกร้องทบทวนการบังคับใช้ระเบียบใหม่ของท่าอากาศยานภูเก็ต เรื่องการดำเนินการควบคุมและตรวจสอบการแลกบัตรเข้าเขตพื้นที่ควบคุมในการยกป้ายรับผู้โดยสารขาเข้า อันนำมาซึ่งความยุ่งยากซับซ้อนให้กับการทำงานของไกด์ ทั้งนี้พบว่าไกด์เถื่อนต่างชาติบางราย ซึ่งแต่งกายไม่สุภาพ สามารถเข้าไปโชว์ป้ายรับนักท่องเที่ยวได้ แต่ในส่วนของไกด์คนไทยกลับต้องทำตามขั้นตอนกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน ส่งผลให้เกิดความล่าช้า อย่างไรก็ตามนายธัญญวัฒน์ได้กล่าวภายหลังรับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวว่าจะนำประเด็นทั้งหมดส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา เพื่อร่วมกันหาทางออกในการแก้ปัญหาตามกระบวนการและระเบียบกฎหมายต่อไป ซึ่งระยะเวลามากน้อยเพียงใดนั้นยังไม่สามารถระบุได้
.