Thailand Biennale, Krabi 2018
มหกรรมศิลปะนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 2 พ.ย.2561 ถึง 28 ก.พ.2562 รวมระยะเวลา 4 เดือนเต็มๆ
โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะเจ้าภาพหลัก ปักหมุดการจัดงานที่ จ.กระบี่ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “เมืองมรกตแห่งอันดามัน แดนสวรรค์ท้องทะเลไทย”
หากนับถอยหลัง จากวันนี้เหลือเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น งานมหกรรมศิลปะนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ ก็จะเริ่มขึ้น โดยมีเหล่าบรรดาศิลปินจากทั่วโลก 33 ประเทศ ร่วม 70 ชีวิต ที่ตอบรับเข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ต่างพร้อมเดินหน้าเนรมิต ผลักดันให้เมืองกระบี่เป็นเมืองศิลปะระดับโลก และเป็นอีกจุดหมายปลายทางที่นักเดินทางทั่วโลก โดยเฉพาะผู้มีหัวใจรักงานศิลป์จะต้องแวะมาเยี่ยมชม
แน่นอน การจัดงานครั้งนี้ จึงต้องสร้างความแตกต่าง สร้าง เอกลักษณ์เฉพาะให้กับรายละเอียดของงานปรากฏเด่นชัด มากไปกว่าการจัดการแสดงผลงานศิลปะต่างๆ เช่นในอดีตที่ผ่านมา
...
ด้วยเหตุนี้ นายเจียง เจฮง ผู้อำนวยการสถาบันทัศนศิลป์จีน แห่งเมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร ซึ่งมารับหน้าที่ ภัณฑารักษ์ หลักของการจัดงาน จึงพิถีพิถันรังสรรค์ธีมจัดงาน ภายใต้แนวคิด Edge of the Wonderland “สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์”
ด้วยการกำหนดทิศทางให้ศิลปินจากทั่วโลกร่วมสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของศิลปะเฉพาะที่ (Site-specific art) ที่สร้างขึ้นเพื่อจัดวาง ในตำแหน่งเฉพาะเจาะจงของพื้นที่ทางธรรมชาติกลางแจ้ง โดยแบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 เขตอุทยาน ได้แก่ อุทยานธารโบกขรณีและท่าปอมคลองสองน้ำ โซนที่ 2 บริเวณชายหาด ได้แก่หาดนพรัตน์ธารา อ่าวนาง ไร่เลย์ เกาะปอดะ และโซนที่ 3 ในเมืองกระบี่ เกาะกลางและเขาขนาบน้ำ
นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของศิลปินที่มาจากต่างถิ่นฐาน จะต้องค้นหาแรงบันดาลใจจากพื้นที่ จนเกิดจินตนาการ ยึดโยงความประทับใจ และสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ.กระบี่ ทั้งแผ่นดิน ผืนน้ำ ชายหาด และป่าเขา
ทีมข่าววัฒนธรรม ได้ลงพื้นที่ติดตาม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม พร้อมด้วย ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผอ.สศร. ไปสังเกตการณ์ความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมของการจัดงานในครั้งนี้
สิ่งที่เราได้พบเห็น และสัมผัสอย่างชัดเจน คือ ความร่วมมือร่วมใจของชาวกระบี่ในการเปิดจังหวัด พร้อมต้อนรับผู้คนที่จะเข้ามาเที่ยว ขณะที่ศิลปินท้องถิ่นอันดามันก็ทยอยสร้างผลงานประติมากรรมเสร็จแล้ว พร้อมนำไปติดตั้ง ณ จุดต่างๆแล้ว
ประกอบไปด้วย ผลงาน “พออยู่พอกิน” ของกลุ่มศิลปิน จ.ตรัง,ผลงาน “วิหคใต้ทะเลอันดามัน” ของ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ, ผลงาน “รังนก” จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์, ผลงาน “ฝูงสุดท้าย” ของกลุ่มศิลปิน ภูเก็ต, ผลงาน “ปลา” ของกลุ่มคลองมุดง จ.ภูเก็ต, ผลงาน “ฉลามหัวขวด” ของ กลุ่มแก้มลิง จ. กระบี่,ผลงาน “โลมาสีชมพู” จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย และผลงาน “โลมาสีน้ำเงิน” คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา
ขณะเดียวกัน ศิลปินที่เข้าร่วมโครงการ ก็สร้างงานได้คืบหน้าไปมากเช่นกัน ทั้ง ผลงาน ประติมากรรมสเตนเลส กลางแจ้ง “แว่นขยาย” ของ ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ที่สร้างขึ้นเป็นไฮไลต์โดดเด่น บริเวณปากแม่น้ำเขาขนาบน้ำ หันหน้าออกสู่ทิวทัศน์ท้องทะเลกระบี่ ทั้งยังมีการติดตั้งจอแอลอีดี เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของธรรมชาติอันงดงามของใต้ท้องทะเล
...
ผลงาน เรือหัวโทงที่มีความยาวเป็นสัดส่วนแบบภาพที่ถ่ายเป็นพาโนรามา ขนาด 24 เมตร ของศิลปิน กลุ่ม Luxury Logico จากประเทศไต้หวัน ที่เลือกใช้ช่างฝีมือ การต่อเรือหัวโทง ของชุมชน ต.ตลิ่งชัน มาช่วยสร้างผลงาน
รวมถึงผลงาน The Museum of the Great Outdoors ของ 3 ศิลปินจากชิคาโก สหรัฐอเมริกา Amber Ginsburg, Sara Black และ Charles Vinz ได้รับแรงบันดาลใจจากการก้าวผ่านกรอบความคิดที่เหนือชีวิตของมนุษย์ โดยนำต้นไม้ขนาดยักษ์ที่ตายแล้วมาเป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยวิธีการเผาเป็นถ่านหิน
...
นายวีระ กล่าวว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ วธ.ร่วมมือกับทุกกระทรวงจัดงานนี้ เพื่อยกระดับพัฒนาผลงานศิลปกรรมของประเทศไทยไปสู่การจัดงานระดับโลก โดยขณะนี้มีความพร้อมเกือบ 100% แล้ว และในการจัดงานตลอด 4 เดือน จะมีการจัดตลาดนัดศิลปะและของดีเมืองกระบี่ การจัดแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยไทย/อาเซียน
ในหอศิลป์อันดามัน ที่พลาดไม่ได้ในพิธีเปิดในวันที่ 2 พ.ย.นี้ จะได้เห็นภาพการรวมพลังของชาวกระบี่ ที่จะมาทำพิธีผูกผ้าเรือหัวโทงกว่า 400 ลำ รวมถึงมีการจัด 7 ริ้วขบวน ประกอบด้วย 1.Thailand Biennale 2.เล่าเรื่องเมืองกระบี่ 3.ย้อนรอยวิถีชาวใต้ 4.รวมใจประชาสามัคคี 5.มั่งมีวัฒนธรรม 6.Welcome to Thailand และ 7.สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์”
นายธงชัย รักปทุม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ หนึ่งในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า “ถึงเวลาที่ศิลปิน และผลงานศิลปะของไทยได้ก้าวสู่เวทีโลก และทำให้คนไทยได้มีโอกาสแลก เปลี่ยนเรียนรู้กับศิลปินนานาชาติ ให้สังคมไทยตื่นตัว ผลักดัน ศิลปะ ไปสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวได้ชมศิลปะ ได้สัมผัสธรรมชาติ และขยายตัวไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ทั้งร้านอาหาร การท่องเที่ยวและโรงแรม”
...
ทีมข่าววัฒนธรรม มองว่า การจัดมหกรรมศิลปะนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ศิลปะถ่ายทอดความงามของเมืองไทย ผ่านทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต ผู้คนเมืองกระบี่ โดยศิลปิน ผู้สร้าง ผู้ปรุงแต่ง มุมมอง ส่งต่ออารมณ์ ความรู้สึก และความมีชีวิตชีวา ไปยังผู้เสพให้ได้รับอรรถรสและเห็นแง่มุมต่างๆ
ที่สำคัญยังก่อให้เกิดผลพวงในการต่อยอดดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยว และเสริมสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยอีกด้วย.