กรมชลฯ พร่องน้ำอ่างเก็บน้ำกะทูน ที่เมืองคอน ทำให้น้ำแห้งเผยให้เห็นซากบ้านเรือนเมื่อครั้งถูกดินโคลนเมื่อปี 2531 โผล่ให้เห็น ทำให้ชาวบ้านแห่ไปดูเพื่อรำลึกถึงความทรงจำเมื่อ 30 ปีที่แล้ว...

ผู้สื่อข่าวไทยรัฐรายงานว่า หลังจากกรมชลประทาน ได้ปล่อยน้ำจากที่อ่างเก็บน้ำกะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช เพื่อลดปริมาณน้ำในอ่างไว้คอยรับน้ำฝนที่คาดว่าจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น จนเห็นซากปรักหักพังของบ้านเรือนประชาชนที่จมอยู่ในอ่างเก็บน้ำกะทูนแห่งนี้มากว่า 30 ปี ประชาชนที่ทราบข่าวเดินทางมาดู และถ่ายภาพเก็บไว้

หากย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2531 ได้เกิดภัยพิบัติที่ ต.กะทูน อ.พิปูน ดินโคลนถล่มจนเป็นทะเลโคลน รวมทั้งท่อนไม้ยางพารา และต้นไม้บนเทือกเขาหลวง ทับถม ทั้งตำบล พื้นที่กว่า 6,000 ไร่บ้านเรือน 1,500 หลัง ถูกโคลนทับถมหนาร่วม 2 เมตร มีผู้เสียชีวิตและสูญหายนับ 100 คน ความเสียหายหลายพันล้านบาท ทุกคน ทุกฝ่าย หมดหวังกับการฟื้นฟูพื้นที่ชุมชนเดิม ต้องย้ายที่ตั้งชุมชนใหม่

ขณะนั้นคนกะทูนสิ้นเนื้อประดาตัว บ้านเรือน พื้นที่เกษตร ถูกทับถมยากฟื้นฟู แต่ด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกะทูนในพื้นที่ประสบภัย กระทั่งแล้วเสร็จในปี 2540 นับแต่นั้นมาธรรมชาติก็ฟื้นตัว ชีวิตคนกะทูนกลับมายิ้มได้อีกครั้ง “อ่างเก็บน้ำคลองกะทูนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ก็กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คน การท่องเที่ยวกลายมาเป็นรายได้สำคัญอย่างหนึ่งของคนกะทูน 

...

และช่วงนี้เมื่อทางชลประทาน ได้ปล่อยน้ำในอ่างเก็บน้ำกะทูน จนมองเห็นซากปรักหักพังของบ้านเรือน และตอไม้ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ทำให้ประชาชนรุ่นหลังได้มาเห็นถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในอดีต และถ่ายภาพซากบ้านเรือน วัด เมรุ ที่ปรักหักพังเก็บไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้ดูอีกด้วย นับเป็นจุดเช็กอินกลางน้ำอีกจุดหนึ่งที่มีคนมากันมากในช่วงนี้ อ่างเก็บน้ำกะทูน จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ในการเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติให้คนรุ่นหลังต่อไป.