แม่ทัพ 4 แถลง งัดหลักฐาน การทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาของรัฐ และสนับสนุนเหตุรุนแรง ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ใน จ.ปัตตานี รับมีโรงเรียนเข้าข่าย 6 แห่ง 

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 2 เม.ย. ที่มณฑลทหารบกที่ 46 ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พลโท ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมด้วย พลตรี จตุพร กลัมพสุต ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี พล.ต.ต.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ร่วมแถลงข่าว การดำเนินการตรวจสอบการทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาของรัฐ พร้อมทั้งนำพยานหลักฐานมายืนยัน ว่า โรงเรียนบากงพิทยา มีความเกี่ยวโยงกับการทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาของรัฐ หลังจากที่เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบภายในโรงเรียนบากงพิทยา บ้านบากง ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

ผลการดำเนินการ ตรวจพบเอกสารปลุกระดมมวลชน เพื่อสร้างความวุ่นวายและก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน ถังดับเพลิงและถังแก๊สปิกนิก ที่เก็บไว้ในลักษณะอำพรางซุกซ่อน ไม่ได้อยู่ในที่ที่ควรอยู่ อาจมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ที่น่าสงสัย และตรวจพบหลักฐานการทุจริต งบประมาณในการอุดหนุนการศึกษาของรัฐการให้การสนับสนุนผู้ก่อเหตุรุนแรงที่อำพรางเป็นบุคลากรทางการศึกษา อยู่ในโรงเรียน

...

ด้านพลตรี จตุพร กลัมพสุต ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี เปิดเผยว่า ทางเจ้าหน้าที่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า โรงเรียนบากงพิทยา มีพฤติกรรมการทุจริตงบประมาณของรัฐในการให้การสนับสนุนการศึกษา ซึ่งประกอบไปด้วย

1. บัญชีรายนักเรียนที่ไม่ตรงกับจำนวนที่เข้าเรียนจริง เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า มีนักเรียนที่มิได้เข้าเรียนจริงจำนวนหนึ่ง ในจำนวนนี้ พิสูจน์แล้วยืนยันว่า ไม่ได้เข้าเรียน จำนวน 3 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ

2. ใบเสร็จรับเงินที่จัดซื้อหนังสือเรียน ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ตรวจสอบแล้ว เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนที่เกี่ยวข้องยอมรับว่า ได้จัดซื้อจริงเพียง ร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือให้ร้านค้าเขียนใบเสร็จเต็มจำนวน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากส่วนต่าง

3. มีการจ่ายค่าตอบแทนครู น้อยกว่าที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด กล่าวคือ กระทรวงศึกษาธิการจ่ายค่าตอบแทนรายเดือน ให้ครูที่บรรจุตามวุฒิ รายละ 15,000 บาท แต่โรงเรียนจ่ายให้ประมาณ 7,000-8,000 บาท โดยอ้างว่า เป็นความสมัครใจของครู เพื่อนำเงินส่วนต่างมาเฉลี่ยจ่ายให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้บรรจุตามวุฒิ

4. มีการจ่ายค่าเสี่ยงภัยของครู น้อยกว่าที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด กล่าวคือ กระทรวงศึกษาธิการจ่ายค่าเสี่ยงภัยให้ครู รายละ 2,500 บาทต่อเดือน แต่โรงเรียน จ่ายให้เพียง 1,000-1,500 บาท โดยอ้างว่า ต้องนำมาเฉลี่ยให้ครูที่ไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว

และ 5. หลักฐานที่ใช้เพื่อเบิกงบประมาณของรัฐ พบว่ามีสถานประกอบการห้างร้านที่เกี่ยวข้องร่วมกระทำความผิดในฐานะผู้ให้การสนับสนุนอีกหลายแห่ง จึงตรวจสอบพบหลักฐานการเขียนใบเสร็จเกินจริง โดยร้านเจ๊ะฆูฟาฏอนี พบหลักฐานใบเสร็จ และเอกสารสั่งให้ดำเนินการออกใบเสร็จให้กับโรงเรียนแห่งหนึ่ง แนบอยู่กับใบเสร็จดังกล่าวด้วยว่า ให้ซื้อสินค้ามูลค่า 720,258.52 บาท ยอดเขียนใบเสร็จ 1,772,495 บาท ส่วนต่าง 1,052,236.48 ค่าบิล 84,158.90 บาท แสดงให้เห็นว่า มีการร่วมกันกระทำการปลอมแปลงเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเบิกงบประมาณจากรัฐและเมื่อตรวจสอบไปยังโรงเรียนดังกล่าว ก็พบหลักฐานที่ตรงกันกับที่ร้านเจ๊ะฆูฟาฏอนี ออกให้จริง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้บันทึกไว้เป็นหลักฐานและสอบปากคำไว้แล้ว

ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่า โรงเรียนบากงพิทยา ยังได้มีพฤติกรรมให้การสนับสนุนผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยจากการตรวจค้นพบว่า โรงเรียนบากงพิทยา ได้จ่ายเงินรายเดือนให้กับนายซาการียา หัดสมัด ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ก่อเหตุรุนแรง และเป็นผู้ก่อเหตุร้ายหลายคดี ประกอบด้วย การก่อเหตุเผาหัวจ่ายน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.ดอนยาง เมื่อ 2 ก.พ.59

ก่อเหตุ กราดยิงบ้านเรือราษฎรที่ริมถนนหมายเลข 43 แยกดอนยาง อำเภอหนองจิกเป็นเหตุให้ราษฎรบาดเจ็บ 8 ราย เมื่อ 15 ก.ค.59 และก่อเหตุระเบิด/เผาสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ดอนยางเมื่อ 2 พ.ย.59

โดยถูกจับกุมเมื่อ พ.ย.60 ปัจจุบันถูกควบคุมตัวในเรือนจำอยู่ระหว่างดำเนินคดีปรากฏหลักฐานว่า โรงเรียนได้จ่ายค่าตอบแทนรายเดือนให้กับนายซาการียา หัดสมัด ตั้งแต่ ปี 54 เรื่อยมาทุกเดือนจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ พบพฤติกรรมอำพรางในการสนับสนุนเงินผ่านบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นเครือญาติของ นายเมาลานา สาเมาะ แกนนำสั่งการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ต.ท่ากำชำและนายอับดุลสะตอปา สุหลง แกนนำสั่งการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

...

สำหรับนายเมาลานา สาเมาะ เป็นบุคคลที่ถูกสำนักงาน ปปง.ขึ้นบัญชีประกาศรายชื่อเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายอีกด้วย และน่าเชื่อว่า มีการให้การสนับสนุนผู้ก่อเหตุรุนแรงรายอื่นๆ อีกหลายคนโดยทำธุรกรรมอำพรางผ่านผู้ที่ถูกแอบอ้างเป็นบุคลากรทางการศึกษา บางคนในโรงเรียนหน่วยที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตรวจสอบเฉพาะพื้นที่จังหวัดปัตตานี พบหลักฐานที่น่าเชื่อว่า มีโรงเรียนบางแห่งที่มีพฤติกรรมทุจริตงบประมาณของรัฐ เป็นมูลค่าความเสียหายของรัฐประมาณ ปีละไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท ทำให้เยาวชนที่อยู่ในวัยการศึกษาตามระบบการศึกษาภาคบังคับเสียโอกาสทางการศึกษา หรือเสียประโยชน์อันพึงได้ ประมาณ ปีละ 101,000 คน จากนักเรียนทั้งหมด 165,072 คน มีครูที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐเป็นค่าตอบแทนรายเดือน เสียประโยชน์อันพึงได้ ประมาณ 4,000 คน ทั้งนี้ ประมาณการจากหลักฐานที่ปรากฏและการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง พบว่างบประมาณของรัฐได้ถูกใช้จริงเพียงร้อยละ 40 มีการทุจริตประมาณ ร้อยละ 60 จากเงินอุดหนุนการศึกษาของจังหวัดปัตตานี ปีละประมาณ 1,260 ล้านบาท ถูกเบียดบังไปเพื่อประโยชน์โดยทุจริตประมาณ ปีละ 760 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งน่าเชื่อว่าอำพรางด้วยรายชื่อของบุคลากรทางการศึกษาซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีคุณวุฒิด้านใดและมีความเหมาะสมอย่างไร ทั้งนี้ พบว่าโรงเรียนบางแห่งมีพฤติกรรมให้การสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงอีกด้วย

...

ต่อข้อถามเกี่ยวกับโรงเรียนในพื้นที่ขณะนี้มีกี่โรงนั้น พล.ต.จตุพร ระบุว่า จากการตรวจสอบขณะนี้พบว่า โรงเรียนที่เหมือนลักษณะเดียวกันและเป็นแหล่งบ่มเพาะมีจำนวน 6 แห่ง ที่มีเข้าข่ายทุจริตและเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรง ทางกองทัพจะดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมให้ชัดเจน ทาง ฉก.ปัตตานี ขอความร่วมมือบุคลากรทางการศึกษาที่ถูกแอบอ้างชื่อเพื่อเป็นเส้นทางสนับสนุนความรุนแรง และถูกลิดรอนสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับขอให้แจ้งมาทางเจ้าหน้าที่หรือตนโดยตรง ตนจะเร่งเข้าช่วยเหลือโดยทันที ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงโดยร่วมมือกับ ฉก.ปัตตานี