ชาวบ้านจากหลายจังหวัดแห่กันมาขุดหาหอยพันปีในป่าโกงกางอ่าวทุ่งคา จ.ชุมพร ที่มีอยู่อย่างชุกชุม ส่งขายต่างประเทศ ทำยาโด๊ป ส่วนคนในพื้นที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้แต่มองตาปริบๆ หวั่นจะสูญพันธุ์

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 1 เม.ย. 61 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่บริเวณปากอ่าวทุ่งคา อ.เมืองชุมพร ซึ่งบริเวณนี้เต็มไปด้วยป่าไม้โกงกางที่ยังอุดมสมบูรณ์ และยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร พบชาวประมงกลุ่มหนึ่งกำลังใช้เหล็กเส้นทำเป็น 2 ง่าม ยาวประมาณ 1 เมตร มีด้ามจับเป็นท่อพีวีซี เสียบลงไปในดินเลนลึกประมาณ 50 ซม. เพื่อหาหอย “พันปี” หรือที่ชาวประมงในท้องถิ่น เรียกกันว่า “หอยกันหนู” กันอย่างขะมักเขม้น

บังโซ๊ะ อายุ 50 ปี ชาว จ.สตูล หนึ่งในผู้ที่กำลังหาหอยพันปี หรือหอยกันหนู เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่าพวกเขามีทั้งผู้ชายและผู้หญิง ส่วนใหญ่เดินทางมาจาก จ.สตูล พังงา กระบี่ บ้างก็ยกครอบครัวกันมา เช่าบ้านอยู่ที่ปากน้ำชุมพร พร้อมกับคนรับซื้อหอยชนิดนี้ก็มาด้วยกัน บังโซ๊ะ เล่าว่า พวกตนยกขบวนเดินสายหาหอยพันปี มาตั้งหลายจังหวัดแล้ว แต่ไม่น่าเชื่อว่าที่อ่าวทุ่งคา ของจังหวัดชุมพรแห่งนี้ จะมีหอยพันปีมากกว่าที่จังหวัดอื่นๆ ที่ตนเคยไปหามา อาจเป็นเพราะ อ่าวทุ่งคา ยังเป็นชายป่าเลน ป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์ แถมชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังไม่รู้วิธีหาหอยพันปีอีกด้วย ดังนั้น วันๆ หนึ่งช่วงที่น้ำทะเลลดลงหรือขึ้นไปไม่ถึงบริเวณป่าโกงกาง พวกตนจะหาหอยพันปี ได้มากคนละไม่ต่ำกว่า 10 กก. หรืออาจถึง 20 กก.ก็มี

...

"ขายให้ผู้รับชื้อ แบ่งเป็น 2 เกรด ตัวโต เป็นเบอร์ 1 ขาย กก.ละ 140 บาท ตัวเล็ก เบอร์ 2 ขาย กก.ละ 100 บาท โดยผู้รับซื้อจะเป็นคนคัดเกรดเอง เพื่อส่งขายต่อไปยังต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม มาเลเซีย และฮ่องกง โดยเมื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ จะมีราคาตั้งแต่ 700 ถึง 1,000 บาทต่อกิโลกรัม นับว่าสร้างรายได้อย่างงามเลยทีเดียว ในช่วงจังหวะที่ยางพาราและปาล์มน้ำมันกำลังตกต่ำ"

บังโซ๊ะ ยังเล่าต่ออีกว่า หอยพันปี เป็นหอยที่ชาวจีน เชื่อกันว่าเมื่อนำไปผสมกับสมุนไพรจีนแล้ว จะเป็นยาโด๊ปอย่างดี สำหรับผู้ชายที่นกเขาไม่ขัน โดยเฉพาะรากหรือหน่อของหอยพันปี เมื่อนำไปผสมกับสมุนไพรจีน จะวิเศษกว่าตัวหรือเนื้อของมันเสียอีก

ด้าน นายจรัส กำเหนิดโทน อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 90/2 หมู่ 1 ต.ทุ่งคา อ.เมือง จ.ชุมพร ซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้าน และเป็นนักอนุรักษ์ในพื้นที่ กล่าวว่า หอยพันปี หรือ หอยกันหนู เป็นหอย 2 ฝา คล้ายกับหอยกันที่ชาวบ้านรู้จักเป็นอย่างดี ต่างกันตรงที่ฝาของหอยกันหนูจะมีร่องลึกกว่าหอยกันธรรมดา เนื้อหอยก็ต่างกัน หอยกันหนู เนื้อจะแดงเหมือนตับไก่ และมีหน่อ หรือรากงอกออกมา ยาวประมาณ 1 นิ้วเศษ รสชาติหวาน ส่วนเนื้อหอยกันธรรมดา จะขาว ไม่มีรากหรือหน่อ ชาวบ้านในตำบลทุ่งคา ไม่มีใครทราบมาก่อนว่าหอยพันปี หรือหอยกันหนู จะมีมากที่อ่าวทุ่งคาแห่งนี้ ตนเองจึงรู้สึกหวั่นๆ อยู่เหมือนกันว่า ถ้าคนต่างถิ่นเหล่านี้ซึ่งมีความชำนาญในการหา มาปักหลักหาหอยพันปีกันอยู่แบบนี้ อีกไม่นานหอยพันปี ก็อาจสูญพันธุ์ได้เหมือนกัน เพราะวันๆ หนึ่งคนเหล่านี้จะหาหอยพันปี หรือหอยกันหนู รวมแล้ว 100-500 กิโลกรัมเลยทีเดียว

"อาชีพสุจริตไม่ผิดกฎหมายก็ว่ากันไป คนในพื้นที่ก็ได้แต่ทำใจ" นายจรัส กล่าวในที่สุด.