เล็งไฟฟ้าชีวมวล 3จว.ชายแดนใต้
รมว.พลังงานถอย สั่งเลื่อนโรงไฟฟ้าเทพาอีก 3 ปี ศึกษาหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมใหม่ พร้อม หาทางบริหารจัดการให้ไฟฟ้าในภาคใต้มีใช้อย่างพอเพียงและรองรับความต้องการสูงสุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เผยอนาคตจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับบริบทที่ศึกษานำมาประกอบการตัดสินใจ
ชาวสงขลาเฮ หลังมีการทบทวนเรื่องการสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทั้งนี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ว่า กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปทบทวนการศึกษาพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ อ.เทพา จ.สงขลา ออกไปเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือน ม.ค.2561 ถึงเดือน ธ.ค.2563 หากผลการศึกษาระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสม ต้องไปพิจารณาหาพื้นที่อื่นทั้งในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันที่เหมาะสมกว่า เมื่อได้ข้อมูลครบแล้วภายใน 3 ปี จึงจะกลับมาตัดสินใจอีกครั้งว่าจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ในภาคใต้อีกหรือไม่ หลังจากรัฐบาลสั่งให้กลับไปทบทวนการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) โรงไฟฟ้ากระบี่ใหม่เมื่อก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างกว้างขวาง
“ความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ในอนาคตอาจน้อยลงหรือยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป ขึ้นอยู่กับบริบทที่ศึกษานำมาประกอบการตัดสินใจบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสม ถ้าไม่เหมาะสมก็เลิก แล้วศึกษาแนวทางอื่นควบคู่ เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องเร่งรัดให้ตัดสินใจว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง โดยจะให้เวลาทุกฝ่ายทำงานเพื่อศึกษาข้อมูลตามหลักวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ก่อนตัดสินใจในอีก 3 ปี ข้างหน้า” นายศิริกล่าว
...
รมว.พลังงานกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ใน ระหว่าง 3 ปีนี้เพื่อให้ไฟฟ้ามีเพียงพอ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเพิ่มจำนวนและขนาดของสายส่งแรงดันเชื่อมโรงไฟฟ้าหลักปัจจุบันที่มีข้อจำกัดเป็นคอขวด คือ โรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ส่งตรงสู่เมืองที่มีการใช้ไฟฟ้ามากในบริเวณฝั่งอันดามันได้เพียง 2,024 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิต 2 โรงรวมกันอยู่ที่ 2,400 เมกะวัตต์ โดยให้ดำเนินการควบคู่กับการเพิ่มจำนวนและขนาดสายส่งแรงดันเชื่อมสายส่งหลัก จากภาคกลางที่สถานีจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพิ่มขึ้นอีก 600 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันส่งเข้าพื้นที่อยู่ที่ประมาณ 460 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความ ต้องการสูงสุดในพื้นที่ 2,624 เมกะวัตต์ ได้อย่างมี ประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน
นายศิริกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ให้เร่งพัฒนาระบบสายส่งและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอกับความต้องการในพื้นที่ สร้างงานสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ด้วย โดยตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 300 เมกะวัตต์ภายใน 2-3 ปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตส่วนนี้ประมาณเกือบ 50 เมกะวัตต์ แผนการพัฒนาขนาดและระบบสายส่ง รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว ทำให้ความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่แห่งใหม่มีเวลาตัดสินใจอีก 3 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. เครือข่าย คนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 20 คนได้ยื่นหนังสือ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและปักหลักอยู่ที่ด้านหน้าศูนย์บริการประชาชน หน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมทั้งเตรียมไปยื่น หนังสือคัดค้านที่กระทรวงพลังงานในวันที่ 5 ก.พ.