ภูเก็ตขอความร่วมมือผู้ประกอบการเรือลากร่มหยุดให้บริการชั่วคราว เตรียมเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกองทัพภาค 4 มาให้ความรู้และตรวจเช็คอุปกรณ์ร่มทั้งหมดของผู้ประกอบการในวันที่ 17 ก.ค.นี้ หวังเรียกความมั่นใจของนักท่องเที่ยวกลับคืนมา...

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2560 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานการประชุมแก้ปัญหาเครื่องเล่นเรือลากร่ม หรือ พาราเซล หลังเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้น เมื่อนายโรเจอร์ จอห์น หัสซี นักท่องเที่ยวสัญชาติออสเตรเลีย อายุ 71 ปี ได้ใช้บริการเรือลากร่ม และผลัดตกลงกระแทกผืนน้ำในทะเลบริเวณหน้าชายหาดกะตะ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น เจ้าท่าภูมิภาค ท่องเที่ยวและกีฬา เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ประกอบการเรือลากล่มในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต

นายนรภัทร กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นข่าวกระจายไปทั่วโลก โดยมีการสอบถามเข้ามาจากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ความสนใจและสอบถามเข้ามาค่อนข้างมาก เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สะท้อนถึงภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เบื้องต้นได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาปรึกษาหารือในเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อจะได้หาแนวทางแก้ปัญหาและกำหนดมาตรการในการดำเนินการ ซึ่งพบว่ามีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ส่วน คือ เจ้าท่า เกี่ยวข้องกับเรือและเครื่องเล่น ที่เป็นกฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติการควบคุมอาคาร มีผู้รับผิดชอบ คือ โยธาธิการและผังเมือง จึงได้เชิญผู้ประกอบการมาร่วมหารือสร้างความชัดเจน และแก้ปัญหาร่วมกันในเชิงขอความร่วมมือ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นคืนมา

...

ผวจ.ภูเก็ต กล่าวต่อว่า หลังจากที่มีการชี้แจงในข้อกฎหมาย ในส่วนของผู้ประกอบการเองมีการยอมรับว่า ในส่วนของการประกอบการนั้น ส่วนใหญ่จะมีการทำกันมาแบบรุ่นต่อรุ่นและไม่ได้การอบรมเกี่ยวกับมาตรฐานต่างๆ แต่ผู้ประกอบการทุกคนให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพราะมีผลต่อการประกอบการ และในส่วนของอุปกรณ์ต่างๆ นั้นพยายามที่ใช้ที่จะปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน และจากการติดตามข้อมูลสถิติต่างๆ พบว่า การเกิดอุบัติเหตุจากเรือลากร่มนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก โดยเฉพาะในกรณีที่เสียชีวิตในรอบ 30 ปี มีแค่เพียงรายนี้ ต่างกับอุบัติเหตุอื่นๆ

นายนรภัทร กล่าวสรุปว่า อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากการเครื่องเล่นเรือลากร่มนั้น ทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ และจากการประชุมหารือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการเรือลากร่มพบว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่เปิดให้บริการ ยังขาดความรู้ความชำนาญในหลักวิชาการ ขาดทักษะในการให้บริการ โดยจะใช้ประสบการณ์ถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหา จังหวัดภูเก็ตได้ประสานเชิญผู้เชี่ยวชาญร่ม จากกองทัพภาค 4 มาให้ความรู้กับผู้ประกอบการเรือลากร่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในวันจันทร์ที่ 17 ก.ค.2560 ที่เทศบาลตำบลกะรน โดยจะจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้และตรวจสอบ อุปกรณ์เรือลากร่มให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ทั้ง 52 รายว่า มีความพร้อมในการใช้งานหรือไม่ ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง และจะทำให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ส่วนในมาตรการที่ 2 คือ การบริหารจัดการของผู้ประกอบการเรือลากร่ม ได้มอบหมายให้ผู้ประกอบการดำเนินการจัดตั้งชมรมผู้ประกอบการเรือลากร่มให้มีความเข้มแข็งและเป็นเอกภาพ เพื่อให้มีการควบคุมกันเองมีการตรวจสอบกันเอง เช่น จังหวะในการปล่อยเรือ ความพร้อมของการให้บริการ การจัดลำดับการให้บริการ การดูแลความปลอดภัยทั้งเจ้าหน้าที่ที่อยู่ บนบก บนอากาศหรือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในน้ำ เพื่อให้การบริการเรือลากร่มมีความปลอดภัย มีความสัมพันธ์กัน เพราะหากการปล่อยเรือลากร่มไปโดยไม่มีการสื่อสาร ที่ดี เช่น การปล่อยอุปกรณ์ออกไป โดยที่เครื่องมือยังไม่พร้อมจะทำให้เกิด อันตรายได้ และสุดท้าย คือ การให้ความสำคัญในเรื่องของเรือที่เป็นปัจจัยสำคัญในการให้บริการของเรือลากร่ม เช่น กำลังเครื่องยนต์ ภาวะของคลื่นลมในทะเลส่งผล โดยในเรื่องนี้ทางจังหวัดได้มอบหมายให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ตดำเนินการตรวจสอบเรือให้เข้มข้นมากขึ้น

นายนรภัทร กล่าวด้วยว่า สำหรับการให้บริการของผู้ประกอบการเรือลากร่มในขณะนี้ ยังคงขอความร่วมมืองดให้บริการอยู่โดยขอให้ผู้ประกอบการจะต้องนำเครื่องมือมาทำการตรวจสอบและเข้ารับการอบรมในวันจันทร์นี้ให้เสร็จสิ้นก่อน และจังหวัดภูเก็ตขอยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามจะหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างเต็มที่.