สคบ.ลงพื้นที่ตรวจเต็นท์รถมือสองเมืองอุดรธานี พบบางส่วนหมกเม็ด ไม่ติดฉลากป้ายสินค้า และข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับรถ ขณะที่บางเต็นท์ก็ทำถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เผยมีประชาชนร้องเรียนเป็นจำนวนมากหลังถูกย้อมแมว โดยเฉพาะกรอตัวเลขไมล์รถ หรือเอารถชนหนักๆ มาซ่อมขาย

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 60 นายประทีป เจริญกัลป์ ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภค ด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ สคบ.ส่วนกลาง ศูนย์ดำรงธรรมอุดรธานี ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ปคบ. สภ.เมืองอุดรธานี และ สห.มทบ.24 ร่วมเข้าตรวจเต็นท์รถยนต์มือสอง ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี เพื่อสุ่มตรวจว่า มีการดำเนินการตามที่ สคบ.เคยเรียกประชุมผู้ประกอบการ เรื่องของการติดฉลากแสดงรายละเอียดของสินค้ารถยนต์มือสองหรือไม่

ทั้งนี้ พบว่ามีเต็นท์รถยนต์มือสองบางส่วน ที่ไม่ติดฉลากแสดงรายละเอียดของสินค้าไว้ให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน และไม่มีการลงรายละเอียดต่างๆ ของสินค้า เช่น เลขไมล์ ลำดับเจ้าของรถ ที่มาที่ไปของรถยนต์ ขณะที่อีกหลายเต็นท์ มีการดำเนินการอย่างถูกต้อง

...

นายประทีป กล่าวว่า เต็นท์รถมือสอง เป็นธุรกิจควบคุมฉลากตามกฎหมายที่ต้องติดฉลากให้ถูกต้อง ป้องกันไม่ให้มีการหลอกลวงผู้บริโภค เนื่องจากที่ผ่านมาธุรกิจรถยนต์มือสอง มีการนำรถที่ไม่ดีมาย้อมแมวขาย จึงต้องมีการควบคุมทำฉลากติดที่หน้ารถยนต์คันที่จะขาย ที่ต้องมีรายละเอียดที่ครบถ้วนเกี่ยวกับตัวรถ ตั้งแต่ทะเบียน ยี่ห้อ สี เครื่องยนต์ เลขเครื่อง เลขตัวถัง ประวัติของรถ และเจ้าของ รวมทั้งต้องมีเลขไมล์ของระยะทางที่รถคันที่นำมาขายวิ่งไปแล้วเท่าไร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการนำรถมากลับเลขไมล์นำมาขาย เพื่อให้ดูว่ารถวิ่งมาน้อย จึงต้องบังคับให้ใส่เลขไมล์ที่ถูกต้อง หรือกรณีลำดับเจ้าของ อย่างกรณีเช่น เราจะซื้อรถ หากสมุดคู่มือผ่านเจ้าของมาแล้วหลายราย เราก็ไม่อยากจะซื้อ เพราะดูว่าผ่านใช้งานมาหลายคน เราก็ไม่อยากจะซื้อ รวมทั้งกรณีที่รถเคยประสบอุบัติเหตุก็ต้องลงรายละเอียดให้ผู้จะมาซื้อได้ทราบ และกรณีน้ำท่วมก็ต้องลงรายละเอียดว่า รถเคยถูกน้ำท่วมที่ระดับไหน หรือถูกท่วมทั้งคันมาก่อน ทุกอย่างต้องระบุในรายละเอียดของฉลากให้ครบ

นอกจากนี้ เราก็จะดูเรื่องของประกาศของสัญญากำหนดว่าใบเสร็จรับเงิน ต้องออกตามรายละเอียดของรถที่ครบถ้วน อย่างน้อยเพื่อเป็นใบหลักประกันให้ผู้บริโภคว่า เมื่อซื้อรถไปแล้ว แต่ไม่เป็นไปตามที่ประกาศโฆษณา จะสามารถต่อรองขอคืนรถ หรือให้มีการชดใช้ค่าเสียหายกับทางผู้บริโภคที่ซื้อรถไปแล้วได้

"สคบ.จะทำเรื่องเสนอไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งหากมีการกระทำผิด จะมีบทลงโทษทั้งปรับและจำคุก โดยกรณีที่ไม่ใส่รายละเอียดในฉลากแสดงให้ผู้บริโภค ที่จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งหากผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับ จะสามารถยุติคดีได้ตามกฎหมายของ สคบ. หากไม่ยอมเนื่องจากอัตราโทษปรับสูง ก็จะเข้าสู่กระบวนการของตำรวจ และไปสิ้นสุดในชั้นศาล"