ผวจ.อุดรฯ เผย กลิ่นโรงยางเหม็นถึงจวนผู้ว่าฯ เบื้องต้นตรวจพบโลหะหนัก 46 ยี่ห้อ กรดหยดยาง ขอทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหาความเดือดร้อน ระหว่างการประชุมผู้ประกอบการโรงงานยางกับชาวบ้าน
วันที่ 31 มีนาคม ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายชยาวุธ จันทร ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนรำคาญจากยางพาราทั้งระบบ กับ นายสิธิชัย จินดาหลวง รอง ผวจ.อุดรธานี นายเฉลี่ยว ลีสง่า ผอ.สวล.ภาค 9 อุดรธานี นายธนวรรธน์ เลิศสุคนธ์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี นพ.สุรพงษ์ ผดุงเวียง รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.อุดรธานี นางกุลญดา ทอนมณี ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม ทสจ.อุดรธานี และหน่วยงานเกี่ยวข้อง
รวมทั้งนายธีระชัย แสนแก้ว อดีต รมช.เกษตรฯ นายกสมาคมยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายพรเทพ ศักดิ์สุจริต ประธานสภาอุตสาหกรรมอีสานตอนบน ตัวแทนโรงงานยางแท่ง 6 โรงในพื้นที่อุดรธานี ประกอบด้วย บริษัทศรีตรังแองโกรอินดัสตี้ จำกัด , บริษัทวงษ์บัณฑิต อุดรธานี จำกัด , บริษัทกว๋างเขิง รับเบอร์(แม่โขง) จำกัด บริษัทซูมิรับเบอร์ไทยอีสเทิร์นคอร์ปอเรชั่น จำกัด , บริษัทไทยฮั้วการยาง จำกัด(มหาชน) และการยางแห่งประเทศไทย(โรงงาน5) อุดรธานี
ที่ประชุมรายงานว่า โรงงานยางแท่งมีกลิ่นเหม็น ไม่ใช่เพียง 2 โรง ที่ ต.หนองนาคำ อ.เมือง ที่อยู่ใกล้ชุมชนมาก แต่รวมถึงทุกโรงในอุดรธานี ทางราชการได้เข้าตรวจสอบ สั่งการให้แก้ไขปรับปรุง ควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพ ประชาชน พนักงานโรงงาน และเทียบเคียงพื้นที่ใกล้เคียง พบอาการ แสบตา-ระคายเคืองตา,คัดจมูก-น้ำมูกไหล , จาม ,ปากแห้ง-คอแห้ง,แสบคอ-เจ็บคอ ,แน่นหน้าอก-หายใจลำบาก , ผื่นคันตามผิวหนัง
ขณะผลตรวจคุณภาพอากาศไม่พบเกินมาตรฐาน ส่วนตรวจระดับกลิ่นด้วยการดม เทียบเคียงมาตรฐานกลิ่นโรงงาน 23 ประเภท เพราะโรงงานยางไม่มีมาตรฐานกลิ่น พบว่ากลิ่นเกินกว่ามาตรฐานมากกว่า 50-600 เท่า ที่น่าจะเป็น “ไฮโดรเจนซัลไฟด์” ที่เกิดจากการย่อยสลายไร้อากาศและจากการเผา ในระดับ 4-30 ที่ไม่มีมาตรฐานกำหนดไว้เช่นกัน และมีการเก็บตัวอย่างกรดหยดยาง ทุกประเภท-ชนิด-ยี่ห้อรวม 46 ตัวอย่าง ผลการตรวจเบื้องต้นพบโลหะหนัก โดยเฉพาะเหล็กพบในทุกตัวอย่าง ตั้งแต่ 10-110 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่กรดซัลฟิวริกในห้องแล็ปจะมีเพียง 0.19 มิลลิกรัมต่อลิตร
...
ส่วนการตรวจค่า VSA ของกรมโรงงานฯ อยู่ระหว่างการแปลค่า โดย จ.อุดรธานี ได้เสนอแนวทางแก้ไขทั้งระบบ เริ่มจาก “ต้นน้ำ” รณรงค์ใช้กรดอินทรีย์แทนกรดสังเคราะห์ ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจทางการตลาด ลด-แลก-แจก-แถมกรมอินทรีย์ เพิ่มราคายางที่ใช้กรดอินทรีย์ “กลางน้ำ” สนับสนุนตั้งกลุ่มผลิตยางเครฟชายให้โรงงาน และ “ปลายน้ำ” การปรับปรุงของโรงงาน เพื่อเป้าหมายยางมีคุณภาพดีที่สุด ตามความต้องการตลาดต่างประเทศ
ในส่วนโรงงานยางแท่งทั้ง 6 โรง มีความเห็นด้วยกันแนวทางจังหวัด โดยเฉพาะเรื่องให้เลิกใช้ “กรดซัลฟิวริก” ระหว่างรอการเปลี่ยนแปลง จะซื้อยางที่ไม่ใช้กรดซัลฟิวริกเพิ่ม กก.ละ1 บาท แต่บางโรงยังต้องหารือผู้บริหาร การสนับสนุนให้ผลิตยางเครฟ ลดปัญหาน้ำเซลั่มรั่วไหลลงตามถนน และพร้อมแก้ไขปัญหาตามคำแนะนำทางราชการ แต่ก็มีบางโรงงานยังมีปัญหา การตรวจสอบยางที่ใช้กรดซัลฟิวริก และยังต้องหารือกับผู้บริหารก่อน ขณะบรรยากาศเป็นไปด้วยดี แต่ยังมีโรงงานยางแท่งที่มีปัญหาร้องเรียน ยืนยันกลางที่ประชุมว่า โรงงานตัวเองไม่มีกลิ่นเหม็น ทำให้ตัวแทนผู้เดือดร้อน ระบุว่า คำพูดของผู้บริหารคือความไม่จริงใจแก้ไขปัญหา
ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า ชาวอีสานที่เดือดร้อนมีความอดทน เขาไม่อยากไปทะเลาะกับคนมีเงิน หรือผู้มีอำนาจ มันหลายปีเขาทนไม่ไหวจึงออกมา เขามาชวนตนเองไปนอนที่บ้าน จะได้ดมกลิ่นว่า เหม็นแค่ไหน บอกเลยว่า ไม่ได้ไปก็ได้กลิ่น เพราะกลิ่นเหม็นมันมาถึงจวนผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี อส.ก็ยังได้กลิ่นบอกว่า สงสัยหนูตาย จึงบอกไปว่า กลิ่นโรงงานยาง แต่นานๆได้กลิ่น ไม่เหมือนที่บ้านชาวบ้าน ตลอดฤดูหนาวความกดอากาศ ทำให้มีกลิ่นเหม็นอยู่ตลอดเวลา
“ ผมไม่ได้ซื้อเวลาในการออกคำสั่ง แต่เพราะระเบียบกฎหมาย ไม่มีเรื่องมาตรฐานกลิ่นโรงงานยาง จึงต้องออกคำสั่งให้รอบครอบรัดกุม จะเกิดการฟ้องร้องตามมาได้ และผมก็ไม่ตั้งเป้าจะต้องปิดโรงงาน แต่อยากจะให้อยู่ร่วมกันได้ แม้แต่คนเดือดร้อนคนเดียว ก็ต้องอยู่ร่วมกับโรงงานได้ ให้ตัวแทนโรงงานมาวันนี้ นำความไปบอกผู้บริหาร ว่า ชาวบ้านเดือดร้อนต้องช่วยกัน ”
นายชยาวุธ ผวจ.อุดรธานี กล่าวอีกว่า แนวทางที่อุดรธานีจะดำเนินการคือ เร่งรัดการตรวจสอบกรดหยดยาง “ปลอม” ที่เก็บมาแล้ว 46 ตัวอย่าง เบื้องต้นพบมีโลหะหนัก เมื่อผลตรวจทั้งหมดออกมา ต้องดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมสนับสนุนให้ใช้กรดอินทรีย์ ผ่านทางงบพัฒนาจังหวัด อาทิ ลดขนาดบรรจุภัณฑ์กรดอินทรีย์ลง และอื่นๆ ส่วนโรงงานยางก็ขอให้ร่วมแก้ปัญหาด้วยการศึกษาหรือวิธีการ จากนักวิชาการ หรือโรงงานที่ทำสำเร็จ นำมาใช้กับโรงงานตนเอง ไม่ต้องรอให้อุตสาหกรรมเป็นผู้แนะนำ หวังว่า เวลาที่เหลืออยู่จะแก้ได้ ก่อนที่จะจังหวัดจะมีคำสั่งตามกฎหมาย.