"ฝายน้ำล้นห้วยสายบาตร" ต.โคก อ.เมือง จ.ขอนแก่น ถูกกระแสน้ำไหลผ่าน-กัดเซาะชำรุดเสียหาย อบต.มีงบไม่พบซ่อมแซม ชาวบ้านหวังหน่วยงานมีงบฯ-เครื่องมือพร้อมช่วยเหลือเร่งแก้ไข หวั่นชำรุดเสียหายหนัก 

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 4 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบฝายน้ำล้นห้วยสายบาตร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.8 ต.โคก อ.เมือง จ.ขอนแก่น หลังรับแจ้งจากชาวบ้านว่า ฝายดังกล่าวทรุดตัวพังเสียหาย จากการถูกกระแสน้ำกัดเซาะ จึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาซ่อมแซม

จากการตรวจสอบ โดยมี นายกฏสิทธิชัย จันดา อายุ 43 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ พาสำรวจความเสียหาย พบป้ายที่ทำจากปูน มีสภาพเก่าระบุว่า "โครงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อชุมชน/ชนบท อ่างเก็บน้ำห้วยสายบาตร รัฐบาลสร้างมอบให้ราษฎร บ้านเลิง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยใช้งบประมาณ ปี 2549 เพื่อใช้ประโยชน์และดูแลรักษาร่วมกัน สำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ตัวฝายพังชำรุดและถูกน้ำกัดเซาะจนขาด เพราะถูกกระแสน้ำจากหนองเลิง หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า "หนองอีเลิง" ซึ่งเป็นแก้มลิงรับน้ำขนาดใหญ่ คาบเกี่ยวพื้นที่ จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสารคาม ไหลทะลักข้ามฝายอย่างหนัก จนทำให้พนังดินพังทลายลงมา รวมทั้งพนังปูนที่เพิ่งก่อสร้างก็ถูกน้ำกัดเซาะพังลงมาด้วยเช่นกัน

จากการสอบถาม นายกฏสิทธิชัย กล่าวว่า ตนเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้น และอาศัยหนองเลิงใหญ่เป็นแหล่งในการหาปลาและสัตว์น้ำมาบริโภค ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำและฝายห้วยสายบาตร โดยพบความผิดปกติของตัวฝาย ซึ่งเป็นฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก ถูกน้ำในหนองอีเลิงกัดเซาะจนเกือบขาด ซึ่งกระแสน้ำก้อนนี้เป็นน้ำที่สะสมมาตั้งแต่ฤดูฝนปี 2566 หลังจากเห็นฝายเกิดความเสียหาย ตนจึงโทรศัพท์แจ้งไปยังสำนักงานชลประทานที่ 6 แต่ทางชลประทานที่ 6 ได้ตอบกลับมาว่า ได้โอนย้ายฝายนี้ให้กับ อบต.โคกสี เป็นผู้ดูแลแล้ว จึงได้แจ้งไปยัง อบต.โคกสี ได้รับคำตอบว่า ตอนนี้ อบต.มีงบประมาณไม่เพียงพอ และยังหาเจ้าภาพที่จะเข้ามาซ่อมแซมไม่ได้

...

"เมื่อติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 หน่วยงานแล้ว แต่กลับยังไม่มีหน่วยงานไหนจะเข้ามาแก้ไข จึงได้นำคลิปวิดีโอและภาพไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เพื่อหวังว่าจะมีหน่วยงานที่มีงบประมาณและเครื่องมือ เข้ามาทำการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไปโดยไม่ซ่อมแซม ฝายก็จะพังเสียหายไปมากกว่านี้ และน้ำที่อยู่ในหนองอีเลิงรวมทั้งพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ ก็จะไม่หลงเหลือ ที่สำคัญคือชาวบ้านที่อยู่ตอนบนของหนองอีเลิง ที่ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคก็จะได้รับผลกระทบ ส่วนชาวบ้านที่อยู่ตอนล่างของฝาย โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับลำน้ำพอง ก็จะได้รับผลกระทบจากน้ำที่ไหลทะลักผ่านฝายนี้ด้วย" นายกฏสิทธิชัย กล่าว