รมว.ศธ.มาอุดรธานี เปิดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย แก้ปัญหาหนี้สินครูโดยที่ผ่านมาแก้ได้กว่าพันราย แก้ไขหนี้ได้กว่า 1,849 ล้านบาท พร้อมให้ความรู้การเงินปรับสมดุลหนี้ เพื่อมีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 ที่ห้องประชุมสยามมนต์ตรา คอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมสยามแกรนด์ อ.เมือง จังหวัดอุดรธานี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” 4 ภูมิภาค ครั้งที่ 5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางคณิตา ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และผู้บริหาร ศธ. ร่วมถึง 16 หน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน-สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2566

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มุ่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับภูมิภาค ด้วยการจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า 4 ภูมิภาค 5 จังหวัด โดยครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการเมื่อต้นปี 2566 ในระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2566 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือกับ 16 หน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กระทรวงการคลัง กรมบังคับคดี และสถาบันการเงินชั้นนําของประเทศไทย รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างจริงจังทั้งระบบ

...

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ครั้งที่ผ่านมา มีดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีครูได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 626 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 785 ล้านบาท ภาคตะวันออก ที่จังหวัดสระแก้ว มีครูได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 143 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 175 ล้านบาท ภาคเหนือ ที่จังหวัดพิษณุโลก มีครูได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 199 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 274 ล้านบาท และล่าสุดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีครูได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 393 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 615 ล้านบาท

“ภาพรวมตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีครูที่ได้รับการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า มีการเจรจาไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จำนวน 1,361 ราย แก้ไขหนี้ได้กว่า 1,849 ล้านบาท รวมถึงอบรมให้ความรู้วินัยการเงินสำเร็จแล้ว จำนวนกว่า 6,500 ราย ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันผลักดันงานนี้เพื่อให้ครูไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และถึงแม้งานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยจะเดินทางถึงครั้งสุดท้าย แต่ ศธ. ยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาความเดือดร้อนของครูไทยทั้งระบบ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะขยายผลการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงตั้งเป้าหมายฝึกอบรมหลักสูตรความรู้ทางการเงินให้ครูไทยทั่วประเทศต่อไป เพื่อให้ครูไทยมีระเบียบวินัยทางการเงินที่เข้มแข็ง มีสภาพคล่องทางการเงินที่สมดุลในการจัดการภาระหนี้สิน และมีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นได้จริง” น.ส.ตรีนุช กล่าว

ด้าน นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สำหรับการจัดงานภาคอีสาน ครั้งที่ 5 ที่จังหวัดอุดรธานี ศธ. มีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูระดับพื้นที่ทั้งระบบอย่างยั่งยืนใน 3 มิติ โดยมิติแรกเน้นการอบรมให้ความรู้ทางการเงินในด้านการออม การลงทุน การบริหารจัดการหนี้ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อต่างๆ เช่น จัดการเงินดี Happy แน่นอน รู้คิดพิชิตหนี้, รู้ทันภัยการเงิน เพื่อให้ครูสามารถวางแผนการเงิน-การลงทุน-ภาษี บริหารรายรับ-รายจ่าย และจัดการหนี้สินของตนเองและครอบครัวได้ มิติที่ 2 เปิดให้คำปรึกษา เจรจา ไกล่เกลี่ย ปรับโครงสร้างหนี้ หาข้อยุติการบังคับคดีและแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ครูไทยเข้ารับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงได้รับการผ่อนปรนและสิทธิพิเศษจากสถาบันการเงินเป็นกรณีพิเศษ และมิติที่ 3 เร่งผลักดันและดำเนินการตามกลยุทธ์ที่ได้กำหนดไว้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูให้ยั่งยืน.

...