โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญ “สังหารหมู่ที่ จ.หนองบัวลำภู และกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา” ทำให้คนไทยต่างตื่นตระหนกเศร้าสลดกับ “ความสูญเสียขนาดใหญ่” จนหลายหน่วยงานตื่นตัวต้องทบทวนความปลอดภัยที่สาธารณะ และการรับมือวิกฤติเหตุอาชญากรรม ที่นับวันยิ่งมีแนวโน้มเกิดถี่บ่อยมากขึ้น

กระทั่งเป็น “ภัยใกล้ตัว” ยากที่จะคาดเดาได้ว่า “อันตรายเหล่านี้จะเกิดขึ้นที่ไหนเวลาใด” แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือ “การเรียนรู้วิธีเอาตัวรอด” เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เหตุคนร้ายกราดยิงหมายสังหารเอาชีวิตคนจำนวนมาก ...เหตุนี้ทำให้ “ร.ร.นายร้อยตำรวจ และ บ.ซีเคียวริตี้ พิทช์ จำกัด” จึงได้จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ทางเลือก ทางรอด บทเรียนจากเหตุกราดยิงโคราชสู่หนองบัวลำภู” ผ่านเพจ ร.ร.นายร้อยตำรวจเมื่อไม่นานมานี้ โดย พ.ต.ท.อนุพงษ์ ลิ้มศิริ สารวัตรศูนย์ฝึกตำรวจ ร.ร.นายร้อยตำรวจ บอกว่า

นับตั้งแต่มี “เหตุกราดยิงและสังหารหมู่มานี้” หลายคนเริ่มรับรู้หลักการเอาตัวรอด Run Hide Fight (หนี ซ่อน สู้) กว้างขวางมากขึ้น แต่สำหรับศูนย์ฝึกตำรวจที่ให้ความรู้แก่สถานศึกษา เช่น ที่โรงเรียนเพลินพัฒนา ไม่ได้สอนเฉพาะหลักหนี ซ่อน สู้เท่านั้น แต่สอนกระทั่งการสังเกตสัญญาณอันตรายเพื่อป้องกันเหตุร้ายก่อนด้วย

...

ทว่าพูดถึงประเด็น “เหตุกราดยิง” ในมุมมอง “ด้านหลักยุทธวิธี” มักเป็นสถานการณ์ที่ “คนร้าย” มีความประสงค์ต้องการทำร้าย หรือสังหารผู้คนให้มากที่สุดภายในเวลาที่มีจำกัดส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่ปิด เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โดยคนร้ายจะไม่เลือกรูปแบบวิธีการกระทำใดเป็นพิเศษ

ส่วนใหญ่มักเจอ “การใช้ปืนเป็นอาวุธ” อันมีความชัดเจนว่า “ผู้ก่อเหตุต้องการสังหารคนให้ได้มากที่สุด” อันเป็นตามหลัก “เก้าอี้สามขา” ในการก่อเกิดอาชญากรรมนั้นได้อย่างน้อยต้องมี 3 เหตุปัจจัย กล่าวคือ

ปัจจัยแรก...“ขีดความสามารถของคนร้าย” สำหรับเหตุกราดยิงนั้นเราถือว่า “ตัวคนร้าย คืออาวุธสำคัญ” ส่วนสิ่งอื่นนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้ในการทำร้ายก่อเหตุต่อผู้คนเท่านั้น

ปัจจัยที่สอง...“ความอยากหรือต้องการทำร้าย” เรื่องนี้แทบคาดเดาไม่ได้ว่า “ความอยากต้องการทำร้ายคนอื่นมาจากสาเหตุใด” เพราะเกิดขึ้นได้ทุกปัจจัยไม่ว่าจะโกรธแค้นส่วนตัวอย่างเช่น “เหตุกราดยิงใน จ.นครราชสีมา” อ้างผู้บังคับบัญชารังแกแต่ข้อเท็จจริงเป็นแบบใดไม่อาจทราบได้เนื่องด้วยคนร้ายเสียชีวิตไปก่อน

ปัจจัยที่สาม...“โอกาส” เมื่อคนร้ายมีขีดความสามารถ และต้องการทำร้ายแล้ว ถ้ามีโอกาสก็มักก่อเหตุอาชญากรรมขึ้นได้ ดังนั้นหากยับยั้งตัดปัจจัย 1 ใน 3 ข้อนี้ได้ การก่อเหตุอาชญากรรมอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้

ถัดมาเมื่อเกิดเหตุแล้ว “ประชาชนตกอยู่ในสถานการณ์จะเอาตัวรอดอย่างไร...?” เรื่องนี้ทุกคนต้องพยายามฝึกสังเกตทางออกของสถานที่สาธารณะให้เป็นนิสัยเสมอที่เรียกว่า “หลบหนี (RUN)” เมื่อมีคนร้ายกราดยิงจะได้รู้เส้นทางหลบหนีออกจากสถานที่นั้นได้รวดเร็วที่สุด แล้วอย่าสนใจทรัพย์สิน หรือสิ่งของสัมภาระที่ติดตัวมา

ควรทิ้งไว้ไม่ต้องพะวักพะวนเสียดาย “ยกเว้นโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้ติดต่อสื่อสาร” ในส่วนการช่วยเหลือบุคคลอื่นทำเท่าที่สามารถช่วยได้ แต่ถ้าเป็นกรณี “เด็กเล็กประสบเหตุนั้น” ย่อมไม่อาจอยู่ในสถานะช่วยเหลือตัวเองได้แน่นอน “เด็กต้องฝากชีวิตไว้กับผู้ใหญ่” ทำให้ต้องพาเด็กหนีออกไปยังที่ปลอดภัยด้วย

หากไม่สามารถหนีออกได้ทัน “ใช้วิธีการหลบซ่อนตัว (Hide)” ด้วยการหาห้อง หรือสถานที่ที่มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อใช้ในการหลบซ่อนตัวพร้อมหาวัตถุที่มีขนาดใหญ่ปิดกั้นประตูเอาไว้ด้วย แล้วปิดไฟงดใช้เสียงทุกชนิด “ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ” หามุมหลบซ่อนหลังวัตถุขนาดใหญ่ แต่ในระหว่างนี้ก็ควรต้องหาช่องทางหนีไปด้วย

เน้นย้ำว่า “ห้ามหลบหลังประตูเด็ดขาด” เพราะไม่อาจป้องกันกระสุนปืนได้ ถ้าสังเกตเหตุการณ์ “กราดยิง จ.นครราชสีมา” ปรากฏพบ “เหยื่อบางคน” ไม่ทราบหลักการแก้ปัญหาเหตุกราดยิงแล้วพากันหลบหลังประตูห้อง “คนร้าย” ก็มักใช้อาวุธปืนยิงประตูทะลุผ่านเข้ามาโดนเหยื่อเสียชีวิตหลายรายเช่นกัน

...

เมื่อวิ่งหนีหลบซ่อนไม่ทันทางเลือกสุดท้ายคือ “ต่อสู้ (Fight)” ด้วยการหาวัสดุใช้เป็นอาวุธต่อสู้ให้ได้

เช่นเดียวกับ พ.ต.ต.ปกรณ์ ทองจีน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยสาธารณะ บ.ซีเคียวริตี้ พิทช์ จำกัด บอกว่า สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว “เรื่องการป้องกันภัย” ยังเป็นองค์ความรู้เข้าถึงค่อนข้างยาก ทำให้รู้สึกดีใจที่ “ร.ร.นายร้อยตำรวจ” มีกิจกรรมอบรมสาธิตเหตุกราดยิงให้สถานศึกษาต่างๆ ได้เรียนรู้เพื่อการป้องกันภัยนั้น

เพราะหากดูสถิติย้อนหลังเห็นได้ชัดช่วงไม่กี่ปีมานี้ “เหตุฆาตกรรมหมู่” ได้สร้างความสูญเสียโศกเศร้าให้คนไทยเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เหตุระเบิดแยกราชประสงค์ กราดยิง จ.นครราชสีมา และสังหารหมู่ จ.หนองบัวลำภูฉะนั้นเหตุกราดยิงนี้เป็น “เรื่องใกล้ตัวคนไทย” ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ใช่มีแต่ในต่างประเทศเท่านั้นแล้ว

ถ้ามาดูตามข้อมูล “เอฟบีไอ” ที่มีการเก็บสถิติปี 2020-2021 ปรากฏพบว่า “เหตุกราดยิงเพิ่มมากขึ้น 52.5%” ที่มีแนวโน้มเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ “ด้วยโลกปัจจุบันทุกคนเข้าถึงสื่อได้ง่าย” ทำให้ความรุนแรงกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ แน่นอนว่า “โอกาสการกระทำความผิด” ก็ย่อมเพิ่มขึ้นตามมาด้วย

...

เช่นนี้ “ทุกคนต้องมีกระบวนการคิดดูแลความปลอดภัยตัวเองเสมอ” ด้วยการแสวงหาความรู้ในการป้องกันตัวเอง ในกรณีต้องตกอยู่ในสถานการณ์กราดยิงที่สาธารณะ ควรจะต้องรู้วิธีการรับมือเอาตัวรอดได้อย่างไร แล้วในส่วน “หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ” ก็ต้องตระหนักรู้ถึงเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ทำงานเช่นกัน

ด้วยปัจจุบัน “การสร้างแบรนด์ หรือการสร้างความน่าเชื่อถือต่อองค์กร” เริ่มหันมาสร้างความปลอดภัยต่อคนในองค์กรมากขึ้น เพื่อให้ที่ทำงานมีความมั่นคงปลอดภัยเท่านั้นยังไม่พอองค์กรต้องตระหนักว่า “เหตุกราดยิงเป็นเรื่องใกล้ตัว” แล้วต้องให้ความรู้พนักงานผ่านการฝึกอบรมรูปแบบต่างๆเพื่อรู้จักการระวังป้องกันตัวเองที่ดี

สรุปแนวทางป้องกันเหตุร้ายนั้น “ทุกคน” ต้องมีกระบวนการป้องกัน หลบเลี่ยง เอาตัวรอดก่อนเสมอ เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งใกล้ตัวเกิดขึ้นได้ในประเทศนี้ “องค์กร” ก็ต้องมีนโยบายปกป้องพนักงาน หรือผู้เข้ามาใช้บริการด้วย

ขณะที่ ศ.พล.ต.ท.ดร.วีรพล กุลบุตร อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม สตช. บอกว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจกรณี “เหตุกราดยิงหรือเหตุอาชญากรรม” ต้องเป็นตามยุทธวิธีตำรวจอันมีขั้นตอนปฏิบัติคือ “เตรียมการก่อนเกิดเหตุ” เพราะอาชญากรรมสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด

...

ดังนั้น ทำให้ต้องหาข่าว ตั้งหน่วยเฉพาะกิจและจัดเตรียมกำลังให้มีความพร้อมในแต่ละระดับโรงพัก แต่เมื่อมีเหตุอาชญากรรมก็เคลื่อนย้ายเข้าปฏิบัติภารกิจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างเช่น “เหตุกราดยิง จ.นครราชสีมา” ในขั้นตอนเผชิญเหตุหน่วยแรกต้องเข้าไปคือ “ตำรวจท้องที่” เริ่มจัดระเบียบเหตุแยกพื้นที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่ทั่วไป

เพื่อกันประชาชนให้อยู่ห่างแล้ว “รักษาสถานที่ หรือบุคคลสำคัญใกล้ที่เกิดเหตุ” ตั้งแต่บ้านบุคคลสำคัญ โรงพยาบาล สถานที่เลี้ยงเด็ก หรือปั๊มน้ำมันที่อาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้ “กรณีคนร้ายยังไม่ลงมือกระทำความผิด” ต้องเจรจาต่อรองเป็นหลักสากลจากเบาไปหาหนัก พร้อมทั้งสืบสวนหาข้อเท็จจริงควบคู่ไปด้วย

ประเด็น “กรณีเหตุกราดยิง” ตำรวจหน่วยแรกเข้าถึงที่เกิดเหตุต้องไม่ทำให้ “คนร้ายตื่นกลัว” โดยเฉพาะผู้เสพยาเสพติด หรือผู้มีอาการคลุ้มคลั่ง เพราะคนร้ายอาจใช้กำลังต่อตัวประกันได้ง่าย แล้วเร่งแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบสถานการณ์แวดล้อม ลักษณะคนร้าย อาวุธที่ใช้ จุดซุกซ่อนอยู่ และตัวประกันอยู่ในสภาพอย่างไร

ทว่าเป็นกรณี “คนร้ายจับตัวประกัน” เจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นเข้าพบเห็นเหตุการณ์มักไม่มีความเชี่ยวชาญ “ไม่ควรตัดสินใจช่วยตัวประกันด้วยตนเอง” เพราะเมื่อหลายปีก่อนเคยมีหญิงพยายามกระโดดตึกฆ่าตัวตายแล้วระหว่างรอตำรวจเจรจาก็เกิดปฏิบัติการเข้าชาร์จ ทำให้ผู้หญิงคนนั้นตกใจกระโดดจากที่สูงเสียชีวิต

ขณะที่ “การปฏิบัติของผู้บังคับบัญชา” ก็จะพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของใคร เช่น ก่อการร้าย ก่อการร้ายสากล หรืออาชญากรรมร้ายแรงธรรมดา เพื่อสั่งการต่อไป ฉะนั้นเหตุอาชญากรรมนั้น “ตำรวจ” ต้องมีการวางแผน “ปฏิบัติการ” ตามยุทธวิธีดำเนินงานตามขั้นตอนภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้เสมอ

สุดท้ายนี้ “เหตุกราดยิงในประเทศไทย” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝัน ฉะนั้น “ยุทธวิธีเอาตัวรอด” ถือเป็นทางเลือกทางรอดสำคัญเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายนั้น.