แม่ร้องสื่อฟอร์จูนเนอร์ชน จยย.ลูกสาว 13 ปีกลางสี่แยกบาดเจ็บที่ อ.สตึก ขอความเห็นใจหลังคู่กรณีจ่ายให้ 3 พันบาท โดยคู่กรณีชี้แจงทำตาม ก.ม. เป็นเหตุประมาทร่วม ต่างคนต่างซ่อม และจ่ายค่ารักษาเอง
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 65 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ต.ร่อนทอง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ว่าอยากให้เป็นสื่อกลางเรียกร้องขอความเป็นธรรม ลูกสาวถูกรถชนแล้วเจ้าของรถปฏิเสธการเยียวยา โดยนางนิภาวรรณ เวโรจน์ อายุ 44 ปี ชาวบ้าน ม.3 ต.ร่อนทอง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 64 เวลาช่วงเช้า ลูกสาวขับรถจักรยานยนต์ไปโรงเรียนสตึก อ.สตึก ไม่นานได้รับแจ้งจาก จนท.ว่าลูกสาว วัย 13 ปี ถูกรถชนบริเวณสี่แยกซอยข้างโรงพยาบาลสตึก (ไม่มีสัญญาณไฟ) ถูกนำส่งโรงพยาบาล จึงรีบไปหาลูก พบว่าไม่ได้สติ ต่อมาหมอแจ้งว่าลูกอาเจียนเป็นเลือด เกรงว่าสมองจะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรง ต้องส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ หลังจากนั้น 2 วันหมอให้กลับมาพักฟื้นที่บ้านเพื่อรอดูอาการ มาจนถึงวันนี้ลูกสาวยังปวดหัวไม่หาย จึงไม่กล้าให้ลูกไปโรงเรียน
...
นางนิภาวรรณ เล่าด้วยว่า หลังจากเกิดเหตุ ได้ไปเจรจากับนายพิสิทธิ์ รองพล อายุ 45 ปี เจ้าของรถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ คู่กรณีของลูกสาวแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากคู่กรณี จะจ่ายเงินเยียวยาทั้งหมดทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ และค่าทำขวัญ รวมเป็นเงิน 3,000 บาท จึงขอร้องให้คนขับรถเห็นใจ เพราะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองไปแล้ว 10,800 บาท ทั้งรถพังเสียหาย และคนยังอาการไม่ปกติ แต่นายพิสิทธิ์ ยืนยันจะจ่าย 3,000 บาท อ้างว่าเพียงพอแล้ว เมื่อต้องการขอความช่วยเหลือจากพนักงานสอบสวน เจ้าของคดี กลับได้รับคำตอบว่า "ให้ไปจ้างทนายเก่งๆ แบบชั้น 1 ไม่ต้องเอาทนายกิ๊กก๊อกในพื้นที่มา เดี๋ยวจะแพ้" ทำให้ตอนนี้ตนกับสามี ไม่มีทางออก เพราะไม่มีใครช่วยเหลือได้ จึงขอร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อ เผื่อจะมีผู้รู้ ผู้ใจบุญมาให้คำชี้แนะ
ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถามนายพิสิทธิ์ รองพล คนขับรถที่เกิดอุบัติเหตุคู่กรณี กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า ตัวเองไม่สามารถชดใช้ตามคำเรียกร้องของผู้เสียหายได้ เพราะกฎหมายไม่เอื้อ คู่กรณีเป็นเด็กอายุ 13 ปี ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่ได้ต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ภาคบังคับ ส่วนรถตนเองมีทั้ง พ.ร.บ.ภาคบังคับ มีใบอนุญาตขับขี่ มีประกันแบบสมัครใจ (ชั้น 1) และพร้อมจะจ่ายให้ แต่ตนไม่ผิด เพราะลักษณะการชน เป็นการชนอยู่กลางสี่แยก ต่างคนต่างผิด คือ เป็นการประมาทร่วม เมื่อเป็นการประมาทร่วม พนักงานสอบสวน ระบุชัด ต่างคนต่างซ่อมรถ อีกฝ่ายต้องรักษาเอง ส่วนเด็กที่ได้รับบาดเจ็บถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเด็กไปล้มใส่พื้นปูนเอง ส่วนผมไม่เป็นไร
นายพิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ถ้าจะให้ผมจ่ายตามคำเรียกร้องของคู่กรณี คือ ค่ารักษา 10,800 ค่าซ่อมรถอีกประมาณ 5,000 บาท และค่าทำขวัญอีก ก็จะตกราว 20,000 บาท ถ้าตกลงกันแบบนี้ เขาต้องมาซ่อมรถให้ผมที่ได้รับความเสียหายเช่นกัน.