ศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร เดินหน้าผลักดันเกษตรกรแปลงใหญ่ สู่โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ และเชื่อมโยงตลาด หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบโควิด
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 64 นายวีระศักดิ์ หอมสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร กล่าวว่า สำหรับกลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวใน จ.สกลนคร ที่เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ และเชื่อมโยงตลาด มีทั้งสิ้น 14 กลุ่ม เป็นกลุ่มเกษตรกรที่หัวไวใจสู้ มีความพร้อมและความตั้งใจในการผลิตข้าว ซึ่งทั้ง 14 กลุ่ม ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารโครงการระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ในวงเงินประมาณ 40 ล้านบาท ปัจจุบัน ณ เดือนตุลาคม 2564 ทำการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จไปแล้วจำนวน 10 กลุ่ม การเบิกจ่ายมากกว่าร้อยละ 90 เช่น กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โดยกลุ่มได้จัดซื้อรถเกี่ยวนวดข้าว รถแทรกเตอร์ รถดำนา รถไถเดินตาม พร้อมอุปกรณ์ และโดรนเพื่อการเกษตร เป็นต้น ศูนย์วิจัยข้าวสกลนครได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น มีการจัดเวทีชุมชนในการเข้าร่วมโครงการ จัดเตรียมเอกสารเสนอคณะกรรมการบริหารโครงการระดับอำเภอ และระดับจังหวัด แล้วก็การเข้าร่วมประชุมในระดับอำเภอและระดับจังหวัด นอกจากนี้ก็ให้คำแนะนำในการจัดซื้อจัดจ้างการจัดเตรียมเอกสารตามคู่มือให้ถูกต้องครบถ้วน ตามจุดประสงค์ของโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ และเชื่อมโยงตลาด ถือเป็นผลสำเร็จที่เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในช่วงที่มีวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
...
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นการดำเนินงานซึ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย ที่อยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกันที่พร้อมจะพัฒนาการผลิตและการตลาดร่วมกันตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเน้นการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายการตลาดนำการผลิต นำไปสู่การจัดการสินค้าเกษตร สู่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน สร้างเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรได้อย่างมั่นคงในอนาคต ตามแผนปฏิรูปการเกษตร โดยเกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่และร่วมกันดำเนินการบริหารจัดการการผลิต หากเกษตรกรที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร หรือที่สำนักงานเกษตรในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน สำหรับนาแปลงใหญ่มีหลักเกณฑ์เบื้องต้นคือต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 30 ราย พื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ หน่วยงานภาครัฐจะดำเนินการนำเข้าที่ประชุมระดับอำเภอและระดับจังหวัดตามลำดับ หากผ่านเกณฑ์ก็จะได้รับการอนุมัติเป็นกลุ่มแปลงใหญ่และมีงบประมาณเข้ามาสนับสนุนเกษตรกรในการทำการเกษตร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร กล่าวอีกว่า ในปี 2564 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ และเชื่อมโยงตลาด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้เกษตรกร มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความหลากหลายมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็ง ในการบริหารจัดการแปลงใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ ต่อยอดด้านคุณภาพมาตรฐาน แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงการตลาด และสร้างโอกาสในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตและผลตอบแทน จากการผลิต การลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน.