ผู้ว่าฯ โคราช เผยภาพรวมน้ำท่วมขณะนี้เอาอยู่แล้ว หลายพื้นที่ก็ได้เริ่มฟื้นฟู หลังมวลน้ำแผ่กระจายออกท้องทุ่งนาที่ อ.ชุมพวง ส่วนที่ อ.โนนไทย และโนนสูง ยังมีท่วมขังอยู่คาด 3-4 วันจะกลับสู่ปกติ

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดฯ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่มาถึงธารน้ำใจและเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ มิตรภาพ ซอย 5 เทศบาลนครนครราชสีมา และ อ.โนนไทย, อ.โนนสูง พร้อมกับเปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วม น้ำลดว่า มวลน้ำขณะนี้ไปยัง อ.ชุมพวง และมวลน้ำมีการแผ่กระจายออกไปตามท้องทุ่งนาเป็นบริเวณกว้าง ฉะนั้นน้ำก็จะท่วมในที่ลุ่มมาก ซึ่งน่าจะเบากว่า อ.ด่านขุนทด, อ.เมืองนครราชสีมา, อ.โนนสูง, อ.โนนไทย และ อ.พิมายที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และมวลน้ำจากลำมูล ลำตะคองยังรับได้

ผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าวต่อว่า กรณีมีประกาศแจ้งเตือนอ่างห้วยบ้านยาง ต.สุรนารี ให้พื้นที่ ต.สุรนารี และ ต.บ้านใหม่ อ.เมืองนครราชสีมาระวังน้ำท่วมเก็บข้าวของขึ้นที่สูงเตรียมไว้ ซึ่งก็เป็นการแจ้งเตือนไป เพราะขณะนี้อ่างฯ ห้วยบ้านยากมีน้ำเต็มความจุแล้ว เพียงแต่ว่าถ้าเกิดมีฝนตกลงมาเติม ก็อาจจะต้องมีการระบายน้ำออกเท่านั้นเอง จึงแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนไว้ก่อน ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ดีขึ้นทุกอำเภอแล้ว แต่มีบางพื้นที่ที่น้ำกำลังเริ่มไป เช่น อ.พิมาย บางตำบล อ.ชุมพวง บางส่วน อ.โนนแดง บางส่วนที่ไม่เคยท่วม แต่ก็จะท่วมในปริมาณที่น้อยกว่าอำเภอต้นๆ น้อยกว่า อ.พิมาย, อ.คง, อ.โนนสูง, อ.โนนไทย แต่พื้นที่ข้างบนน้ำก็ยังไม่แห้งดี ไม่ว่าจะเป็น บ้านลำเชียงไกร ต.โคกสูง อ.เมืองนครราชสีมา, อ.โนนไทย, อ.โนนสูง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 3-4 วัน ถ้าไม่มีฝนตก พื้นที่เหล่านี้จะกลับมาสู่ภาวะปกติ ส่วนหลายพื้นที่ก็ได้เริ่มฟื้นฟูกันแล้ว เช่น อ.ด่านขุนทด, ชุมขนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยรวมตอนนี้สามารถคุมสถานการณ์น้ำท่วมไว้ได้แล้ว และแจ้งเตือนน้ำเป็นระยะๆ

...

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ในด้านการช่วยเหลือของภาคเอกชน ผู้ใจบุญ ผู้มีจิตใจอันเป็นกุศล มูลนิธิ องค์กรการกุศลระดมกำลังลงไปมอบข้าวกล่อง ข้าวปลาอาหาร ถุงยังชีพ ถุงน้ำใจต่างๆ น้ำดื่ม จะเป็นตัวแทนขอบคุณน้ำใจอย่างไรนั้น นายวิเชียรกล่าวว่า ในฐานะตัวแทนพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยก็ต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทั้งประเทศที่ร่วมกันมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวจ.นครราชสีมาที่ประสบอุทกภัย จากการเข้าไปในพื้นที่ที่น้ำท่วมต่างๆ พี่น้อง มีรถกู้ภัย มีรถขนส่งถุงยังชีพจำนวนมากมาย รถติดไปหมด ส่วนนี้เป็นน้ำใจจากพี่น้องประชาชนทั่วสารทิศที่ระดมกำลังมาช่วยเหลือซับน้ำตาพี่น้องประชาชนชาว จ.นครราชสีมา

"อย่างไรก็ตามเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความทั่วถึงและก็ไม่ซ้ำซ้อน อยากจะขอความกรุณาท่านแจ้งอำเภอ หรือแจ้ง อบต.เจ้าของพื้นที่สักนิดนึงว่าท่านจะไปแจกที่ไหน ตรงไหนบ้าง เพื่อที่อำเภอจะได้ลงข้อมูลไว้และการช่วยเหลือจากหน่วยอื่นจะได้ไม่ซ้ำซ้อน และจะได้เป็นการทั่วถึง แต่ต้องขอขอบคุณพี่น้องที่หลั่งไหลมาช่วยพี่น้องประชาชนชาว จ.นครราชสีมาอย่างมากมาย เราชาว จ.นครราชสีมารู้สึกซาบซึ้ง และจะจดจำในน้ำใจของภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ องค์กรการกุศล ภาคประชาชนที่มาช่วยเราในครั้งนี้ตลอดไป" นายวิเชียร กล่าว

ด้าน นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมจ.นครราชสีมาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่มากับน้ำ โรคที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคน้ำกัดเท้า ซึ่งขณะนี้มีพี่น้องประชาชนเกิดกันมาก ซึ่งเบื้องต้นหลังจากที่แช่น้ำแล้วเมื่อขึ้นจากน้ำแล้วก็ต้องรีบทำความสะอาดเช็ดให้แห้งหรือการผึ่งให้แห้งด้วยพัดลมและทาครีมยาน้ำกัดเท้า หรือถ้าไม่มีก็ใช้โลชั่นทำให้ผิวหนังไม่แห้งที่สำคัญรักษาความสะอาดตลอด ส่วนที่สองโรคที่มากับน้ำท่วม คือ โรคทางเดินอาหาร โดยอาหารที่จะนำมาปรุงอาจจะไม่สะอาดเพียงพอ เนื่องจากภาชนะอุปกรณ์ประกอบอาหารอาจจะถูกน้ำท่วมทำให้ไม่สะอาดเพียงพอ ฉะนั้นขอให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและอาหารร้อนๆ

นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่จะนำข้าวกล่องไปแจกจ่าย ก็ขอให้เน้นว่าควรจะเป็นข้าวกล่องที่ไม่มีส่วนประกอบของแกงที่เป็นน้ำกะทิ เพราะจะบูดง่าย การที่จะนำไปส่งมอบก็อย่าทิ้งไว้นาน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ส่วนที่สามคือน้ำดื่มก็ควรจะเป็นน้ำดื่มที่เป็นภาชนะที่บรรจุเสร็จ และได้รับการรับรองมาตรฐานจากภาคส่วนราชการ โดยเฉพาะโรคทางเดินอาหารจะมีโรคต่างๆ มากมาย เช่น โรคท้องร่วงรุนแรง, โรคไทยฟอยด์, โรคบิดต่างๆ เหล่านี้ และโรคผด ผื่น คัน ลมพิษ แมลงสัตว์กัดต่อยต้องระมัดระวังบ้านเรือนของเราให้ดี ส่วนช่วงหลังน้ำลดจะมีโรคที่มาบ่อยๆ คือ โรคฉี่หนู หรือไข้ฉี่หนู และโรคไข้เลือดออกที่มีน้ำท่วมขัง

...

นพ.นรินทร์รัชต์ กล่าวด้วยว่า ช่วงนี้จะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างอากาศหน้าฝนกับหน้าหนาวก็ต้องระมัดระวังโรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม ซึ่งสาธารณสุขฯ ก็พยายามให้ความรู้และระมัดระวังร่วมกัน โดยมีการออกดูแลพี่น้องประชาชน มีการตั้งหน่วยให้การรักษาพยาบาลตามจุดต่างๆ ทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ที่มีน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงการสาธารณสุขได้รวดเร็ว ซึ่งสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องทำสองอย่างควบคู่กัน ทั้งเรื่องของโควิด-19 และน้ำท่วม อย่างกรณีที่มีการแจกข้าวปลาอาหาร หรือถุงยังชีพต่างๆ ก็ต้องมีการจัดระบบเพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนปะปนกันมาก และรักษาสุขอนามัยให้ถูกต้องตามระบบ และก็ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ที่มาแจกว่าจะจัดระบบอย่างไรที่จะไม่มีเกิดการแออัดหรือเกิดการยื้อแย่งกันเกิดขึ้นอย่างนี้ เป็นต้น.