โคราชขาดแคลนเลือดหนัก ช่วงวิกฤติโควิด-19 กาชาดต้องใช้วิธีโทรตามประชาชนที่ครบกำหนด ออกมาบริจาคเลือดอย่างเร่งด่วน หลังเลือดในคลังมีไม่ถึง 30%

วันที่ 2 กันยายน 2564 เทคนิคการแพทย์หญิง น.ส.ศิริลักษณ์ เพียกขุนทด หัวหน้าภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 5 จ.นครราชสีมา สภากาชาดไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์โลหิตสำรองภายในตู้เก็บโลหิตของภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 5 จ.นครราชสีมา สภากาชาดไทย ที่ขณะนี้มีโลหิตสำรองไว้ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่วิกฤติในการขาดแคลนโลหิตอย่างหนัก

นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 การบริจาคโลหิตในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสานที่อยู่ในความดูแลของภาคฯ ได้แก่ นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ ลดลงเป็นอย่างมาก ในส่วนของ จ.นครราชสีมา ลดลงมากกว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากหลายหน่วยงานงดหน่วยเคลื่อนที่ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 งดให้บุคคลภายนอกเข้าไปภายใน, มาตรการ Work From Home, มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในหน่วยงาน และสถานศึกษาให้นักเรียนเรียนออนไลน์ ส่งผลให้การจัดหาโลหิตลดลงต่ำกว่า 50%

...

จากข้อมูลการจ่ายโลหิตในช่วงภาวะปกติไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างจังหวัดนครราชสีมา ภาคฯ สามารถจ่ายโลหิตให้กับโรงพยาบาลได้ 70-80% แต่พอสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนักตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบันสามารถจ่ายโลหิตได้เพียง 30% เท่านั้น สวนทางกับความต้องการของโรงพยาบาลที่ต้องใช้โลหิตในการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องทุกวัน จนเกิดภาวะขาดแคลนเลือด

หากสถานการณ์ขาดแคลนโลหิตเป็นเช่นนี้ต่อไป จะส่งผลอันตรายแก่ชีวิตผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเลือด ซึ่งจำเป็นต้องรับโลหิตครั้งละ 1-2 ยูนิต ทุก 3-4 สัปดาห์ หากไม่ได้รับโลหิตผู้ป่วยจะมี ภาวะซีด อ่อนเพลีย มีปัญหาในการดำรงชีวิต กลุ่มผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยมะเร็ง ที่จะต้องถูกชะลอการรักษาออกไปอย่างไม่มีกำหนด และกลุ่มผู้ป่วยอุบัติเหตุ ที่จำเป็นต้องใช้โลหิตในการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เช่น เลือดออกในสมอง มีภาวะเลือดออก ในช่องอก หรือช่องท้อง หรือผู้ป่วยกระดูกหัก ซึ่งพบได้เกือบทุกวัน และเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการโลหิต จำนวนมาก

หัวหน้าภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 5 จ.นครราชสีมา สภากาชาดไทย กล่าวอีกว่า แผนการจัดหาโลหิตในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ได้ทำการร้องขอกำลังพลจากกองทัพภาคที่ 2, ตำรวจภูธรภาค 3, กลุ่มจิตอาสาต่างๆ ส่วนราชการ และพนักงานบริษัท ภาคเอกชน เพื่อให้มาช่วยเหลือ ในส่วนของผู้บริจาคโลหิตที่ครบกำหนด จะใช้วิธีโทรศัพท์ตามมาบริจาค และส่ง SMS เพื่อเชิญชวนมาบริจาค

ขณะเดียวกันข้อสอบถามที่ผู้บริจาคโลหิตมีความกังวลโดยเฉพาะในเรื่องของวัคซีนโควิด-19 จะมีผลต่อการบริจาคโลหิตหรือไม่นั้น ท่านสามารถบริจาคโลหิต ก่อนฉีดวัคซีนได้ แต่ไม่ควรบริจาคโลหิตวันเดียวกับวันที่ฉีดวัคซีน กรณีได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจาก อย. ขอให้เว้น 7 วัน หลังฉีดก็สามารถกลับมาบริจาคได้ หากมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ขอให้หายดีก่อน เว้น 14 วัน ก็สามารถกลับมาบริจาคโลหิตได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ชาวโคราชสามารถบริจาคโลหิต ได้ที่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 5 จ.นครราชสีมา สภากาชาดไทย ต.หนองบัวศาลา, ห้องรับบริจาคโลหิต สภากาชาดไทย ชั้น LG เทอร์มินอล 21 โคราช, ห้องรับบริจาคโลหิต ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา, ห้องรับบริจาคโลหิต สภากาชาดไทย ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, โรงพยาบาล สาขาบริการโลหิต ใกล้ที่ไหน บริจาคที่นั่นในพื้นที่ของตนเองเพื่อความสะดวกปลอดภัยของผู้บริจาค.