ทำยามว่างแต่ขายได้จริง คุณตา-คุณยายใช้เวลาว่าง เหลาทางมะพร้าวขายช่วงโควิดระบาด จนกลายเป็นอาชีพหลัก ช่วยทำรายได้สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 6,000 บาท

วันที่ 9 มิ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ปลูกและขายมะพร้าวมากเป็นอันดับต้นของจังหวัด เพราะมีมะพร้าวอยู่หลากหลาย และคุณภาพดีได้รับการยอมรับ ซึ่งเกือบทุกส่วนของต้นมะพร้าวที่ไม่ได้ขายผลสด จะถูกแปรรูปขายสร้างรายได้เพิ่ม โดยที่บ้านตูม ม.9 ต.ตูม อ.ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา คุณตาอินทร์ ชินศรีฉิมพลี อายุ 90 ปี และคุณยายเอม ชินศรีฉิมพลี อายุ 83 ปี สองสามีภรรยา ได้ยึดอาชีพเหลาทางมะพร้าวขาย ซึ่งอาชีพเดิมคือตัดใบตองกล้วยตานีขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดปักธงชัย

แต่ช่วงโควิด-19 ระบาด ใบตองขายไม่ออกและไม่มีลูกค้าสั่งใบตองเข้ามา สองตายายไม่มีอะไรทำ จึงนั่งเหลาทางมะพร้าวในช่วงเวลาว่าง เพราะเห็นเกษตรกรพากันเอาทางมะพร้าวมาสุมไฟทิ้ง เห็นแล้วเกิดความเสียดาย จึงลองเอาทางมะพร้าวมาเหลาขาย ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท

ทั้งนี้ ปรากฏว่าขายดี มีคนสั่งซื้อเข้ามาตลอด สัปดาห์หนึ่งจะมียอดสั่งซื้อเข้ามา 2-300 กิโลกรัม ทำให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 6,000 บาท โดยยายเอมจะให้ลูกหลานไปเก็บทางมะพร้าวที่แก่และร่วงลงจากต้นมาให้ จากนั้นสองตายายก็จะช่วยกันนั่งเหลาทางมะพร้าว ในหนึ่งวันสามารถเหลาได้ประมาณคนละ 4 กิโลกรัม

...

โดยใช้มีดเหลาเอาใบแห้งของทางมะพร้าวออก ให้เหลือแต่ก้านแข็งๆ ตรงกลาง เมื่อได้จำนวนมากก็จะนำมามัดรวมกันให้ได้มัดละ 1 กิโลกรัม และเมื่อเหลาได้ตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ก็จะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อถึงที่บ้าน เพื่อนำไปขายให้กับกลุ่มคนผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ หรือกลุ่มที่ทำไม้กวาดทางมะพร้าว ซึ่งยังมีความต้องการวัตถุดิบทางมะพร้าวอยู่เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีคนสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่คุณตา-คุณยาย ก็จะซื่อสัตย์กับลูกค้า โดยเลือกเฉพาะทางมะพร้าวที่แก่หลุดร่วงจากลำต้นเอง นำมาเหลาขายให้ลูกค้า เพราะคุณสมบัติของทางมะพร้าวที่แก่ได้ที่จะไม่เปราะ มีความเหนียวมาก ส่วนทางมะพร้าวที่แก่แล้ว แต่ยังไม่หลุดจากต้น จะถือว่ายังไม่แก่จริง นำมาเหลาก็จะเปราะหักง่าย ซึ่งคุณตาคุณยายจะกำชับลูกหลานห้ามดึงออกมาเหลาขายอย่างเด็ดขาด จะต้องรักษาคุณภาพของสินค้าที่ขายเอาไว้ ทำให้ลูกค้ามั่นใจ แห่มาซื้อทางมะพร้าวกันเป็นจำนวนมาก.