บุรีรัมย์เป็นหนึ่งจังหวัดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากปริมาณฝนที่ตกน้อยต่อเนื่อง 2 ปี...แต่จากการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่มาก ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในจังหวัดบุรีรัมย์ช่วงฤดูแล้งนี้ไม่น่ากังวลมากนัก

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยืนยันสถานการณ์น้ำในพื้นที่บุรีรัมย์ช่วงฤดูแล้งปีนี้ เบาใจได้ว่าไม่วิกฤติแน่นอน เนื่องจากมีการบริหารจัดการน้ำได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ

ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทุกขนาดมีความจุรวม 475 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำใช้การ รวม 266 ล้าน ลบ.ม. หรือ 56% มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี’63 ถึง 154 ล้าน ลบ.ม.

แยกเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง คือ อ่างฯ ลำนางรอง มีน้ำใช้การ 84 ล้าน ลบ.ม. หรือ 71% อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 11 แห่ง น้ำใช้การรวม 102 ล้าน ลบ.ม. หรือ 66% ขนาดเล็ก 4,380 แห่ง ความจุรวม 202 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำ 81 ล้าน ลบ.ม. หรือ 22%

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำรองรับยังมีโครงการที่รัฐบาลจัดสรรงบกลางปี’63 ในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กป้องกันปัญหาภัยแล้งในจังหวัดบุรีรัมย์ทั้งสิ้น 490 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 149 โครงการ อาทิ ก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม สร้างระบบประปา รวมถึงโครงการบ่อบาดาลที่ อ.ประโคนชัย ที่ช่วยสนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.สี่เหลี่ยม บ้านศรีบูรพา และชุมชนในพื้นที่กว่า 200 ครัวเรือน ไม่ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ด้วย

แม้ปริมาณน้ำอุปโภค-บริโภคจะไม่ขาดแคลน แต่ยังคงต้องจัดสรรน้ำเพื่อกิจกรรมการต่างๆ ตลอดทั้งฤดูและสำรองถึงต้นฤดูฝน จึงได้เน้นย้ำกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งให้เป็นไปตามแผนเนื่องจากสภาพน้ำต้นทุนมีจำกัด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

...

โดยเฉพาะรณรงค์ไม่ให้มีการเพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้นอีกเพื่อไม่ให้กระทบกับน้ำต้นทุน ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการเพาะปลูกแล้ว 3.2 หมื่นไร่จากแผน 1.6 หมื่นไร่.

สะ-เล-เต