รอง นพ.สสจ.โคราช ย้ำให้ความสำคัญโรคไข้เลือดออกเพราะ พบระบาดต่อเนื่องข้ามปีเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ฟันธงปีนี้น่าจะระบาดหนักกว่าปีที่แล้ว ระบุ ไข่ยุงลายหรือเชื้อยังแฝงอยู่ในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.63 นายแพทย์วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ทั้ง 32 อำเภอมีผู้ป่วยกว่า 1,100 ราย เสียชีวิต 2 รายว่า ในด้านการระบาดวิทยาเรามีผู้ป่วยไข้เลือดออกของ จ.นครราชสีมาทั้งสิ้น 1,164 ราย ถ้าคิดเป็นอัตราป่วยของประชากร ต่อแสนประชากรประมาณ 37% ต่อแสนประชากร และเป็นที่น่าเสียดายว่าขณะนี้ เรามีผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกไปแล้ว 2 ราย รายแรกที่ อ.โนนสูง อายุ 10 ปี เป็นเด็กวัยเรียนมีโรคประจำตัวเด็กอ้วน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และอีกรายที่ อ.สีคิ้ว ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อายุ 16 ปีมีโรคประจำตัวด้วย ทั้งนี้เราได้ดำเนินมาตรการควบคุมป้องกันโรคและสืบค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่ต่อเนื่อง

รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าวต่อว่า สำหรับการระบาดของไข้เลือดออกที่ จ.นครราชสีมาได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากมีการระบาดต่อเนื่องข้ามปี โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 นั่นแปลว่า ไข่ยุงลายหรือเชื้อมันอยู่ในพื้นที่ โดยที่ไม่แสดงอาการ หรือว่ามันยังแฝงอยู่ในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา เมื่อไหร่ก็ตามที่มีฝนเป็นการเหมาะแก่การเพาะพันธุ์มันก็เจริญเติบโตขึ้นแล้วนำเชื้อมาสู่คนได้ ฉะนั้นมาตรการที่สำคัญที่เราอยากให้ตระหนักในทุกพื้นที่ ในเรื่องของภาชนะที่มีน้ำขังทั้งหลาย ท่านต้องรณรงค์เรื่อง 3 เก็บให้ได้ “เก็บบ้านดูแลเรื่องความสะอาด เก็บน้ำ ภาชนะที่ใช้น้ำทุกชนิดต้องมีฝาปิดมิดชิด เก็บขยะ ขยะต่างๆ ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายต้องทำลายให้หมดไปทั้งในบ้านและนอกบ้าน

...

นายแพทย์วิญญู กล่าวอีกว่า ปฏิบัติตาม 5 ป. 2.ข ได้แก่ ป.ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิดหลังใช้น้ำแล้วทุกครั้ง เพื่อป้องกันยุงลายไปวางไข่ , เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน เนื่องจากวงจรชีวิตของยุงพอ 7 วันจะกลายเป็นตัวเต็มวัยและ 14 วันก็สืบพันธุ์ได้ ฉะนั้นเราก็ตัดวงจรของยุงก่อน, ป.ปล่อยน้ำปลากินลูกน้ำ เช่น หางนกยูง ในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว ถังซีเมนต์เก็บน้ำขนาดใหญ่, ป.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม บ้านสะอาด ไม่เป็นที่อับชื้น ไม่เป็นที่วางไข่ของยุงได้ทุกคนในบ้านก็จะปลอดภัย และ ป.ที่ต้องทำคือ ปฏิบัติเป็นประจำทุกสัปดาห์จนเป็นนิสัย

รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าวด้วยว่า สำหรับ 2 ข. ได้แก่ ข.ขจัดไข่ยุงที่ขอบด้านในของภาชนะเก็บกักน้ำ เพราะมันอยู่เป็นปีได้ และ ข.ขยะกำจัดให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย ทั้งที่บ้านทุกบ้าน วัด โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ที่ทำงาน สถานราชการทุกแห่ง ศาสนสถาน นอนกลางวันต้องกางมุงหรือไม่ก็ทายาป้องกันยุง นี่เป็นความห่วงใยของ จ.นครราชสีมา และมาตรการเรื่องไข้เลือดออกมันจะต้องเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น เพราะเนื่องจากปีนี้มีการคาดการณ์หรือทำนายว่า ไข้เลือดออกระบาดน่าจะหนักกว่าปีที่แล้ว.