ระบาดในอีสาน โคราช-ป่วยพุ่ง

สธ.เผย “โรคไข้เลือดออก” คร่าชีวิตพุ่ง 11 ราย พร้อมเปิด 5 จังหวัดพบผู้ป่วยมากสุด พ่วงภาคที่มีผู้ป่วยสูง สั่งจับตาภาคอีสาน หลังมีผู้ป่วยพุ่งอย่างมีนัยสำคัญ ส่งเจ้าหน้าที่เร่งควบคุมพ่นหมอกควันฆ่ายุงโตเต็มวัยพร้อมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย แนะหากพบบ้านไหนป่วยให้กำจัดยุงในรัศมี 100-200 เมตร ขณะที่ผู้ว่าฯโคราชสั่งรวมพลังตั้งการ์ดสู้ภัยไข้เลือดออกควบคู่ไปกับไวรัสโควิด-19 หลังมีผู้สังเวยชีวิตแล้ว 2 ราย

ผวาไข้เลือดออกระบาดหนัก โดยเมื่อวันที่ 31 พ.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออก ว่า ขณะนี้พบการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุมี 2 ปัจจัยคือ การเข้าสู่ฤดูฝนทำให้มีแหล่งน้ำขัง กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย และตัวโรคที่ขณะนี้เป็นช่วงที่เข้าสู่การแพร่ระบาดของโรคพอดี โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องเฝ้าระวังพิเศษ เพราะเป็นภาคที่มีประชากรจำนวนมาก เมื่อเกิดการป่วยจะพบผู้ป่วยมาก เช่น กรณี จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวอีกว่า ส่วนการควบคุมโรคนั้น ได้ส่งทีมไปจัดการกับยุงโตเต็มวัย ด้วยการฉีดพ่นหมอกควัน จากนั้นร่วมมือกับประชาชนในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ทั้งรอบบ้าน ชุมชน วัด เป็นต้น นอกจากนี้ในกรณีที่พบผู้ป่วยในพื้นที่ หมู่บ้าน หรือในชุมชนใด ต้องมีการจัดการยุงเต็มวัยในระยะ 100-200 เมตร ร่วมกับ การค้นหาผู้ป่วยเพื่อทำการรักษาและป้องกันการระบาดของโรคในวงกว้าง ขอความร่วมมือประชาชน ช่วงนี้ให้ร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และนอนกางมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัดด้วย

...

ขณะที่ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยารายงานสถานการณ์การเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-25 พ.ค.2563 พบผู้ป่วย 14,136 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 21.28 ต่อแสนประชากร และเสียชีวิตจำนวน 11 ราย คิดเป็นอัตราตาย 0.02 ต่อ แสนประชากร จังหวัดที่มีผู้ป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ระยอง พบผู้ป่วย 73 ต่อแสนประชากร ชัยภูมิ 58.13 ต่อแสนประชากร ขอนแก่น 53.83 ต่อแสนประชากร แม่ฮ่องสอน 37.87 ต่อแสนประชากร และนครราชสีมา 36.92 ต่อแสนประชากร ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 25.67 ต่อแสนประชากร ภาคกลาง 22.04 ต่อแสนประชากร ภาคใต้ 18.42 ต่อแสนประชากร และภาคเหนือ 14.14 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ

ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด เผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. จนถึงขณะนี้ในพื้นที่มีผู้ป่วย 1,164 ราย คิดเป็นอัตราการป่วย 45.82 ต่อประชากรแสนคนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย พบผู้ป่วยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง กลุ่มอายุที่พบสูงสุดได้แก่ กลุ่มเด็กวัยเรียน อายุ 10-16 ปี ป่วย 276 ราย รองลงมา อายุ 5-9 ปี ป่วย 215 ราย กลุ่มอายุ 15-19 ปี ป่วย 215 ราย อายุ 20-24 ปี ป่วย 106 ราย อยู่ในลำดับ 6 ของประเทศ อำเภอที่พบอัตราป่วยสูงสุด ประกอบด้วย อ.เมืองนครราชสีมา อ.โนนไทย อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.โชคชัย อ.สูงเนิน อ.โนนสูง อ.ประทาย อ.พิมาย อ.ขามทะเลสอ และ อ.จักราช

ผวจ.นครราชสีมากล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและป่วยจากโรคไข้เลือดออก ขอให้ทุกพื้นที่เร่งสร้างความร่วมมืออย่างเข้มข้นในการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกับผู้นำชุมชน หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ อสม. เพื่อชาวโคราชรวมพลังตั้งการ์ดสู้ภัยไข้เลือดออกควบคู่ไปพร้อมกับโควิด-19 รณรงค์สื่อสารลดความเสี่ยงโรคไข้เลือดออก รณรงค์ 3 เก็บอย่างต่อเนื่องนั่นคือ “เก็บบ้าน เก็บน้ำ เก็บขยะ” และปฏิบัติตาม 5ป. 2ข. อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกป้องกันได้ แต่มีอันตรายรุนแรงถึงเสียชีวิต เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกีที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค หากมีไข้สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านโดยด่วน เพื่อป้องกันการเสียชีวิต

ด้าน พ.ต.ท.วิจารณ์ วิจิตรจริยา รองนายกเทศมนตรีตำบลไชยมงคล อ.เมืองนครราชสีมา เผยว่า พื้นที่บ้านโกรกตระคร้อ หมู่ 1 ต.ไชยมงคล มีการระบาดของไข้เลือดออกมากที่สุด ทุกวันเจ้าหน้าที่เทศบาลร่วมกับ อสม.และชาวบ้าน บูรณาการกันเข้มแข็งออกให้ความรู้กับประชาชน ผู้สูงอายุ คนแก่ คนชรา กลุ่มเป้าหมาย ถึงวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกและรณรงค์การกำจัดลูกน้ำยุงลายที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก หลังมีผู้ป่วยกว่า 60 ราย ทำให้ทางสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนในการป้องกันอย่างจริงจัง