เจ้าของร้านบาร์บีคิว ปิ้งย่างบุฟเฟต์ชื่อดังเมืองอุดรฯ เผยยังไม่เปิดร้านให้นั่งกิน เพราะข้อกำหนด "รับประทานได้โต๊ะละ 1 คน" ไม่เหมาะกับร้านประเภทที่คิดเงินเป็นรายหัว ทำไปก็ไม่คุ้มทุน
บ่ายวันที่ 2 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ร้าน “เอสบาร์บีคิว” ปิ้งย่างบุฟเฟต์ ตั้งอยู่เลขที่ 489/6 ถนนธรรมเจดีย์ เขตเทศบาลนครอุดรธานี ซึ่งเป็นร้านอาหารชื่อดังเมืองอุดรธานี จัดอยู่ในประเภท ปิ้ง ย่าง เนื้อ หมู และอาหารทะเล แบบบุฟเฟต์ มีพนักงานให้บริการจัดอาหารส่งถึงโต๊ะ ราคาคนละ 209 บาท ซึ่งจัดอยู่ในประเภทร้านหมูกระทะ เนื้อย่าง ชาบู แต่วันนี้ต้องปิดบริการแบบนั่งกินในร้าน ให้บริการแบบสั่งซื้อกลับไปกินที่บ้าน ซึ่งทางร้านได้จัดเจลล้างมือ จุดสั่งอาหาร และเก้าอี้นั่งรอรับอาหารที่สั่งห่างกัน 2 เมตร ตามมาตรฐานที่กำหนด
นายสุทัศน์ จันทรโคตร อายุ 42 ปี เจ้าของร้าน เปิดเผยว่า เปิดร้าน “เอสบาร์บีคิว” ปิ้งย่าง แบบบุฟเฟต์ ตั้งแต่ปี 2548 มีทั้งหมด 80 โต๊ะ มีพนักงาน 50 คน เป็นพนักงานประจำ 20 คน พนักงานพาร์ทไทม์รายวัน 30 คน มีลูกค้าเฉลี่ยวันละ 150-200 คน ไม่ได้ให้ลูกค้าตักอาหารเอง แต่จะพนักงานบริการส่งอาหารถึงโต๊ะ ร้านถูกจัดอยู่ในประเภทเดียวกับร้านหมูกระทะ เนื้อย่าง ชาบู ลูกค้าส่วนใหญ่จะมารับทานกันแบบครอบครัว และเพื่อนฝูง
...
หลังจากเจอวิกฤติโควิด-19 มีประกาศของทางจังหวัดให้ปิดบริการแบบนั่งโต๊ะรับประทานที่ร้าน พนักงานพาร์ทไทม์ต้องหยุดทำงาน เหลือพนักงานประจำต้องหมุนเวียนกันมาทำงาน เฉลี่ยวันละ 10 กว่าวัน เพื่อมาจัดเตรียมอาหารให้ลูกค้าสั่งกลับไปกินบ้านทุกวัน ขณะที่ลูกค้าหายไป 70-80 เปอร์เซ็นต์
"ผ่านมา 1 เดือน รัฐบาลได้ผ่อนปรนให้เปิดร้านอาหารได้ แต่ร้านหมูกระทะ เนื้อย่าง ชาบู ให้ตั้งรับประทานได้โต๊ะละ 1 คน ซึ่งที่ร้านจัดอยู่ประเภทเดียวกันกับหมูกระทะ ก็คงจะเปิดไม่ได้ เพราะไม่คุ้มกับต้นทุน เพราะหัวใจหลักของบุฟเฟต์ คือ กลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อนฝูง ลูกค้ามาใช้บริการโต๊ะละ 4-5 คน ถ้าให้มานั่งรับประทานคนเดียว ลูกค้าคงไม่มาใช้บริการ เปิดไปก็คงไม่คุ้มกับต้นทุน คงต้องทำแบบสั่งกลับไปกินบ้านก่อน ซึ่งยอดขายตกลงไปปประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะเป็นลูกค้าประจำ สั่งกลับไปกินที่บ้าน ก็ได้คนละบรรยายกาศ แต่รับประทานที่ร้านจะคุ้มมากกว่าสั่งกลับไปกินที่บ้าน แต่ถ้าจะมาให้จัดโต๊ะห่างกัน 2 เมตร นั่งได้โต๊ะละ 1 คน ร้านคงไม่จัด และคงไม่มีคนมานั่งรับประทาน"
ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลตัดระเบียบแบบแผนใหม่ เน้นในลักษณะจัดร้าน ให้เจ้าหน้าที่มาตรวจตรา ถ้าไม่ผ่าน ก็ให้ร้านหยุดไป ซึ่งทางผู้ประกอบการทำได้อยู่แล้ว ทางร้านมีเจลแอลกอฮอล์ และที่ตรวจวัดอุณหภูมิ พนักงานสวมหน้ากากอนามัยทุกคน แต่ถ้ามาบังคับใช้ให้นั่งรับประทานโต๊ะละ 1 คน คงจะไม่ได้ ไม่มีลูกค้ามาใช้บริการเหมือนเดิมแน่ ไม่เกิดประโยชน์
อย่างไรก็ตาม ถ้าให้จัดโต๊ะนั่งกินแบบครอบครัว ห่างกันโต๊ะละ 1-2 เมตร ร้านสามารถเปิดได้ อย่างน้อยก็จะช่วยให้มีการจ้างงานพนักงานอีกเท่าตัวคือ 20 คน ภาวนาให้รัฐบาลผ่อนปรนให้เปิดบริการภายในเดือนนี้ เพราะพนักงานประจำยังได้เงินจากประกันสังคม แต่พนักงานพาร์ทไทม์ ซึ่งส่วนมากเป็นนักเรียน นักศึกษาไม่มีรายได้ ส่วนตนแบกภาระร้านด้วยการจ่ายโบนัส และขึ้นเงินเดือนให้พนักงานมา 2 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ยิ่งมาเจอวิกฤติโควิ-19 เข้าไปอีกจึงต้องไปขอพักชำระหนี้ที่ธนาคารไว้ก่อน