ฤดูฝน 2562 อีสานเจอน้ำท่วมครั้งใหญ่ แต่ผ่านมาไม่ทันไร เจอแล้งซ้ำซากเหมือนเดิม...อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 12 แห่ง วันนี้มีน้ำใช้การได้เหลือแค่ 27%
มีเสียงเพรียก ถ้าโครงการโขง-เลย-ชี-มูล เป็นจริง ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคอีสานจะไม่วิกฤติอย่างแน่นอน
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล มีจุดเริ่มที่ จ.เลย...กรมชลประทานพร้อมที่จะบูรณาการร่วมกับ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครง– การนี้ให้เป็นจริง
การศึกษาของกรมชลประทาน มีเป้าหมายเพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่บางส่วนของโขงอีสานและชี และเติมน้ำลงเขื่อนอุบลรัตน์ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.69 ล้านไร่ ครอบคลุม 7 จังหวัด เลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ชัยภูมิ และกาฬสินธุ์ มูลค่าลงทุนประมาณ 157,045 ล้านบาท ระยะเตรียมการ 3 ปี ก่อสร้าง 6 ปี รวม 9 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
โครงการนี้หากจะพัฒนาให้เต็มศักยภาพ จะมีการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจำนวน 17 แถว คลองส่งน้ำสายหลัก 6 สาย ระยะทางรวม 2,273 กม. สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในลุ่มน้ำได้ถึง 29,881 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ 33.57 ล้านไร่ ฤดูแล้ง 11.15 ล้านไร่ มีเกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์ 5.71 ล้านคน สร้างรายได้ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 85,672 บาท/ครัวเรือน/ปี
จะลดความเสี่ยงจากฝนตกล่าช้า ฝนทิ้งช่วง สามารถส่งน้ำให้พื้นที่วิกฤติแห้งแล้งและส่งน้ำยากได้อย่างทั่วถึง
ผลประโยชน์ที่ได้จะทำให้ภาคอีสานมีคลองชลประทานขนาดใหญ่เพิ่ม 6 สาย ที่วางตัวอยู่บนขอบเนินที่สูง มีน้ำไหลตลอดปี เป็นการฟื้นชีวิตลำน้ำธรรมชาติเกือบทุกสายในภาคอีสาน โดยเฉพาะลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี
...
บทเรียนจากภัยแล้งครั้งนี้ น่าจะเป็นอีกแรงที่จะผลักดันโครงการบริหารจัดการน้ำโขง–เลย–ชี–มูล ให้เป็นจริง อีสานจะได้เขียวขจี มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนเสียที.
สะ–เล–เต