นครพนมแล้ง หลังแม่น้ำโขงเข้าวิกฤติ ระดับน้ำลดต่ำเหลือแค่ 1 เมตร ถือว่าเปลี่ยนแปลงหนักสุดรอบ 50 ปี ด้านกรมเจ้าท่าเร่งสำรวจ เปิดทางน้ำ ห่วงกระทบพื้นที่การเกษตรริมโขง ระบบประปา และเดินเรือข้ามฟาก
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ผลกระทบจากภัยแล้งยังคงส่งผลให้ระดับน้ำโขงวิกฤติต่อเนื่อง มีระดับน้ำต่ำประมาณแค่ 1 เมตร ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงหนักสุดรอบ 50 ปี เนื่องจากปีนี้ระดับน้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว และมีความผันผวน ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงบ่อยเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งบวกกับผลกระทบจากการกักน้ำของเขื่อนประเทศจีน ทำให้น้ำโขงในพื้นที่ จ.นครพนม บางจุดระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง และเกิดสันดอนทรายโผล่กลางน้ำโขงเป็นพื้นที่กว้าง เริ่มส่งผลกระทบต่อการเดินเรือข้ามฟาก และออกเรือหาปลาตามแม่น้ำโขง ต้องใช้ระยะทางเดินเรืออ้อมหาดสันดอนทรายหลายเท่าตัว นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ทำการเกษตรปลูกผักส่งขาย ได้รับผลกระทบจากปัญหาสูบน้ำไกลขึ้น เพราะมีสันดอนทรายขวางทางน้ำ รวมไปถึงจุดสูบน้ำตามสถานีสูบน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงจุดสูบน้ำดิบเพื่อ นำไปสู่กระบวนการผลิตประปา ต้องมีการวางแผนรับมือในระยะยาว เนื่องจากฤดูแล้งยังนานอีกหลายเดือน
...
ล่าสุด นายทวีชัย โชคสมุทร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาหนองคาย รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 พร้อมด้วย นายวินัย ช่างชำนาญหล่อ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาค สาขานครพนม นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจผลกระทบจากน้ำโขงแห้ง เพื่อเตรียมพร้อมวางแผนรับมือ โดยได้วางแผนสำรวจ ประสานหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปดำเนินการขุดลอกสันดอนทราย เพื่อเปิดทางน้ำ เพื่อชักร่องน้ำ ใช้ในการเกษตร รวมถึงผลิตระบบประปา ลดปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร หากระดับน้ำโขงลดต่อเนื่อง และมีการวางแผนล่วงหน้าในการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว
ด้าน นายทวีชัย กล่าวว่า สำหรับปีนี้ยอมรับว่าภัยแล้งส่งผลกระทบหนัก เนื่องจากปีนี้น้ำโขงลดลงต่อเนื่อง รวดเร็วกว่าทุกปี มีระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ทำให้หลายจังหวัดติดกับน้ำโขงได้รับผลกระทบหลายจังหวัด เพราะน้ำโขงเกิดสันดอนทรายเป็นพื้นที่กว้าง สิ่งที่ตามมาคือ เส้นทางเดินเรือ จุดสูบน้ำเพื่อการเกษตร จุดสูบน้ำผลิตประปา เริ่มได้รับผลกระทบ ไปจนถึงการเดินเรือข้ามฟาก ทั้งนี้ ทางกรมเจ้าท่าได้มีการหารือหน่วยงานเกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนรับมือ
รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นได้มีการสำรวจ อนุญาตให้พื้นที่ได้รับผลกระทบสามารถขุดสันดอนทรายกลางน้ำโขงเพื่อชักร่องน้ำโขงที่ถูกสันดอนทรายขวางทางน้ำ เข้ามาใช้ในการอุปโภคบริโภค เนื่องจากมีหลายจุดเริ่มได้รับผลกระทบจากสันดอนทราย ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ได้ ต้องเพิ่มระยะทางในการสูบน้ำมากขึ้น ซึ่งต้องมีการตรวจสอบวางแผนรับมือต่อเนื่อง.