อุบัติเหตุวันส่งท้ายปีเก่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เมื่อเด็กชายวัย 12 ปี ใน อ.วังสะพุง จ.เลย ขับรถยนต์กระบะออกไปข้างนอกช่วงกลางดึกในวันเฉลิมฉลองเข้าสู่ปีใหม่ กระทั่งเกิดอุบัติเหตุรถชนกำแพงบ้านคนขณะลงจากเนิน จนรถพลิกคว่ำหงายท้องสภาพพังยับ โดยร่างของเด็กชายวิทยา กันแสน กระเด็นออกมานอกรถได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในที่สุด

ทำให้เกิดคำถามตามหลักของกฎหมายจราจร เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถขับรถยนต์ได้หรือไม่? ซึ่งแน่นอนไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่มีวุฒิภาวะ สุ่มเสี่ยงเกิดอันตรายได้กับตัวเองและผู้อื่น โดยผู้ปกครองมีความผิดที่ยินยอมให้ผู้ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับรถ เปรียบเทียบปรับไม่เกิน 2,000 บาท รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 26 (3) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่ผ่านมากรณีผู้ปกครองปล่อยให้เด็กขับขี่รถยนต์ เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายเคสด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม โชคดีไม่ก่ออันตรายให้ผู้อื่นหรือกับตนเอง ถือเป็นอุทาหรณ์ต้องย้ำเตือนผู้ใหญ่ผู้ปกครองให้ตระหนักคิดให้มากๆ ไม่ใช่แค่ความคิดชื่นชมว่าลูกเก่ง แต่เด็กๆ ยังขาดวุฒิภาวะในการตัดสินใจ

ขณะที่ นายคำไช ปิทบแสง อายุ 60 ปี ตาของเด็กชายวิทยา ออกมาบอกว่า หลานชายหัดขับรถมานาน 3-4 ปี ตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ ขับรถได้ทุกประเภท เคยเตือนไม่ให้ขับก็ไม่เชื่อ จึงอยากบอกไปถึงคนทั้งประเทศ ว่าถ้ามีลูกหลานที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ในการขับรถไม่ควรให้ขับ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเศร้าโศกเสียใจแบบหลานชายของตนเอง

เช่นเดียวกับผู้เป็นแม่ บอกว่า ลูกชายขับรถเป็นทุกอย่างแม้กระทั่งหกล้อ อยากฝากเตือนไปยังพ่อแม่ทุกคน น้องยังไม่บรรลุนิติภาวะ การที่เขาขับรถ อาจคึกคะนองหรือไม่ได้คิดอะไร ฝากเตือนอย่าเพิ่งให้ลูกขับรถ ให้ลูกมีวุฒิภาวะมากกว่านี้ อาจจะสูญเสียคนที่เรารักที่สุดไป

...

“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับนายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ออกมาระบุชัดว่า กฎหมายห้ามอยู่แล้ว ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขับรถยนต์ แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่สนใจ ฝ่ายผู้ปกครองคิดว่าเด็กมีศักยภาพ หรือถูกเด็กรบเร้าจึงต้องยอม ซึ่งอยากย้อนถามกลับผู้ปกครอง จากเหตุที่เกิดขึ้นล่าสุดไม่อยากซ้ำเติมเป็นการยื่นความตายให้ลูก จะไปเรียกร้องอะไรไม่ได้แล้ว เพราะคุณฆ่าลูก

“หากมองในกรอบสังคมไทยในท้องถิ่นพบว่า แต่ละครอบครัวไม่ทำอะไรเลยในการดูแลเด็ก ปล่อยให้ไม่สวมหมวกกันน็อกขับขี่รถจักรยานยนต์ ตราบใดที่ยังไม่เผชิญกับเหตุการณ์ ใครไปยุ่งก็ถูกกล่าวหาทันทีว่าเสือก หากไม่เกิดอะไร ที่ผ่านมาท้องถิ่นชุมชนไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ ควรเอากรณีเด็ก 12 ปีมาทบทวน ไม่ใช่ซ้ำเติมกัน โดยผู้นำชุมชนควรหารือกับ อสม.ในพื้นที่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความสูญเสียของชุมชน ควรหากติกา อย่าเลี้ยงลูกอย่างปล่อยปละทั้งที่เห็นอยู่ทนโท่ ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ไม่ต่อ พ.ร.บ.ให้เด็ก หากเทียบกับซื้อเหล้าเบียร์แล้ว มันถูกกว่ามาก อย่าให้ลูกตายฟรี ควรทำความเสี่ยงในครอบครัวให้หมดไป”

นอกจากนี้ที่ผ่านมากลไกของรัฐมีการปล่อยปละละเลยบริหารจัดการไปวันๆ หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ได้แต่ไปว่ากล่าวตักเตือน ไม่ได้ใช้กลไกในการบังคับ แต่ควรต้องห้ามอย่างเด็ดขาดกับเด็กขี่รถมอเตอร์ไซค์บนถนนใหญ่ ซึ่งกลไกของรัฐทำงานแบบเกรงอกเกรงใจ ไม่กล้าก้าวล่วง จึงถือเป็นความล้มเหลวของประเทศ เพราะสถิติที่ผ่านมาพบว่ากว่า 30% มีคนอายุต่ำกว่า 24 ปี เกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ จากค่านิยมของสังคมที่ไปตามกระแสทุนนิยมแบบ ”ไม่มีไม่ได้” และเมื่อมีแล้วกลับกลายเป็นความชื่นชมของพ่อแม่ ซึ่งไม่ถูกต้องในการชื่นชมลูกขี่รถมอเตอร์ไซค์ หรือขับรถยนต์เก่ง เพราะหากเกิดอะไรขึ้นก็เท่ากับว่าฆ่าลูก

พร้อมทั้งเสนอว่า กระทรวงศึกษาธิการควรมีมาตรการในการบรรจุเรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็นหลักสูตรให้เด็กนักเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เน้นสอนแต่ฟิสิกส์ ชีวะ เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้แค่ครึ่งเดียว แต่ควรสอนให้เด็กมีชีวิตรอดปลอดภัยจะดีกว่า.