เมื่อปี 2519 กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับผู้ชำนาญการจากประเทศฝรั่งเศสได้สำรวจขุดเจาะแหล่งแร่ยูเรเนียม แต่กลับพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ครั้งแรกในพื้นที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และได้ขุดค้นพบอีกหลายชิ้นหลายขนาดเรื่อยมา
ล้วนเป็นฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยเมื่อ 130 ล้านปีที่แล้ว อันเป็นที่มาของ “อุทยานแห่งชาติภูเวียง”
โดยเปิดให้ผู้สนใจได้เขาไปชมและเก็บข้อมูลอย่างใกล้ชิดและทำความรู้จักไดโนเสาร์ 4 สายพันธุ์ใหม่ของโลกประกอบด้วย “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน”, “สยามโมซอรัส สุธีธรนี”, “สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส”, และ “กินรีไมมัส”
ต่อมาเมื่อกลางปี 2562 กรมทรัพยากรธรณีได้แจ้งยืนยันเพิ่มเติมว่าฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ที่ขุดพบจากอุทยานแห่งชาติภูเวียง บางชิ้นส่วนเป็นของไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก นับเป็นตัวที่ 5 ที่พบจากแหล่งเดียวกันนี้
โดยตั้งชื่อว่า “ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ” จึงเป็นผลให้อุทยานแห่งชาติภูเวียงได้จัดเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มความแปลกใหม่ให้ผู้เข้าไปชมได้อย่างสนุกยิ่งขึ้น
นายสุธรรม วงษ์จันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเวียง เผยว่า อุทยานแห่งชาติภูเวียงได้จัดทำแผนที่เส้นทาง และป้ายสื่อสารข้อความต่างๆ พร้อมกับติดโปสเตอร์แสดงถึงรูปลักษณ์และข้อมูลของไดโนเสาร์ทั้ง 5 สายพันธุ์ใหม่ของโลก
ทั้งยังอาศัยเทคโนโลยียุคใหม่ให้ทำการโหลด “แอป” Hike Hundred ด้วยโทรศัพท์มือถือ “สมาร์ท โฟน” จาก App Store และ Google Play ซึ่งจะได้รับข้อมูลเส้นทางศึกษาธรรมชาติของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
...
รวมถึงการปรากฏตัวของไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่มาปะปนอยู่บนหน้าจอโทรศัพท์ สามารถไปสแกนคิวอาร์โค้ดจากแผ่นโปสเตอร์นี้ที่อุทยานฯภูเวียง ก่อนเดิน ท่องไปชมตามแผนที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งจะพาไปสู่หลุมขุดค้นและชมสภาพที่ได้ขุดพบ
โดยมีจุดแวะ 13 สถานี ซึ่งจะสื่อความหมายที่น่าสนใจ ตั้งแต่ลานแร่ยูเรเนียมไปจนถึง 4 สถานีที่ขุดพบซากฟอสซิลแรกเรื่อยไปพร้อมเพลิดเพลินกับทิวทัศน์ธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติภูเวียงที่มีทั้งน้ำตกและลานกางเต็นท์สำหรับไว้อำนวยความสะดวกด้วยเช่นกัน
ดังนั้น นักท่องเที่ยวไม่พลาดจะเดินทางไปชมหลุมที่ขุดพบซากไดโนเสาร์แบบเห็นกันจะจะด้วยตาตัวเอง...!!
ทีมข่าวภูมิภาค