นักท่องเที่ยวแห่ชื่นชม พิธีศักดิ์สิทธิ์รำบูชาองค์พระธาตุพนม ได้สาวงาม 7 ชนเผ่า โชว์ความอลังการ อ่อนช้อย สวยงาม สืบสานประเพณีโบราณ ก่อนที่จะมีการไหลเรือไฟในคืนวันออกพรรษา
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 ตุลาคม 2562 ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธาน นำข้าราชการ หัวหน้าหน่วยงาน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐเอกชน ตลอดจนประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และนางรำทั้ง 7 ชนเผ่า จากพื้นที่ 12 อำเภอ ร่วมประกอบพิธีแห่ขบวน เครื่องสักการะบูชา เพื่อนำไปประกอบพิธีทำบุญถวายเครื่องสักการะบูชาต่อองค์พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งโลก โดยภายในบรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า เนื่องในงานประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟ ประจำปี 2562 ถือเป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดมายาวนาน

ในช่วงเช้าของวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ชาวจังหวัดนครพนม และประชาชน นักท่องเที่ยว จะร่วมกันจัดพิธีขึ้น พร้อมจัดพิธีรำบูชาองค์พระธาตุพนม จากสาวงามนางรำ 7 ชนเผ่า ในพื้นที่ 12 อำเภอ รวมกว่า 500 คน ถวายเป็นพุทธบูชา ต่อองค์พระธาตุพนม และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า น้อมรำลึกถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา อีกทั้งเป็นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ถือเป็นพิธีสำคัญที่จัดขึ้น ก่อนที่จะมีการไหลเรือไฟในคืนวันออกพรรษา สร้างความประทับใจให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว เป็นอย่างมาก ได้ชื่นชม ความอ่อนช้อย สวยงามอลังการ ของท่ารำต่างๆ ของแต่ละชนเผ่า อีกทั้งยังเป็นการเสริมสิริมงคล ให้ผู้มาร่วมงานที่ได้ร่วมทำบุญ อธิษฐานจิตขอพร และร่วมรำบูชาในชุดสุดท้าย เนื่องจากทางวัดได้เปิดโอกาสให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้ร่วมรำบูชา อีกด้วย
...

สำหรับการรำบูชาองค์พระธาตุพนม ถือเป็นประเพณีโบราณ ที่มีการริเริ่มฟื้นฟูขึ้นตั้งแต่ปี 2527 ในช่วงงานประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟ จนกระทั่งมีการพัฒนาสืบสานเป็นประเพณีสำคัญมาถึงปัจจุบัน เป็นการแสดงออกถึงความโดดเด่นของวัฒนธรรมประเพณี อันดีงามของชาว จ.นครพนม โดยทุกปีจะจัดขึ้นในช่วงเช้าของวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 ก่อนที่จะมีการไหลเรือไฟในช่วงเย็น

การรำบูชาองค์พระธาตุพนม ประกอบด้วย การรำทั้งหมด 7 ชุด ประกอบด้วย ชุดที่ 1 รำตำนานพระธาตุพนม โดยอำเภอธาตุพนม ชุดที่ 2 รำศรีโคตรบูรณ์ โดยอำเภอ ปลาปาก และ อำเภอศรีสงคราม ชุดที่ 3 รำผู้ไทย โดย อ.เรณูนคร และ อ.บ้านแพง ชุดที่ 4 รำหางนกยูง โดย อ.เมือง และ อ.นาทม ชุดที่ 5 รำไทญ้อ โดย อ.ท่าอุเทน อ.นาหว้า และ อ.โพนสวรรค์ ชุดที่ 6 รำขันหมากเบ็ง โดยอำเภอนาแก และ อ.วังยาง ส่วนชุดที่ 7 จะเป็นการรำรวมทุกชนเผ่า ในชุดรำเซิ้งอีสาน

นอกจากนี้ เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมรำบูชาถวายเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย สร้างความประทับใจแก่ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาร่วมงานประเพณีสำคัญเป็นอย่างมาก ส่วนช่วงเย็นจะได้ชื่นชมการประกวดไหลเรือไฟของชาวบ้านทั้ง 12 อำเภอ จำนวน 13 ลำ ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม.