"ศักดิ์สยาม" นำบิ๊กคมนาคม ลงพื้นที่บุรีรัมย์ ติดตามแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่เกิดจากการสร้างถนน และจุดกลับรถไกล พร้อมเตรียมนำแบริเออร์ที่ผลิตจากยางพารา ที่สามารถรองรับความเร็วรถมาใช้ทดแทนการก่อสร้างเกาะกลางถนน และให้ขยายช่องการจราจร 4 ช่องทาง...
เมื่อวันที่ 18 ส.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน และนายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง นายกฤชเทพ สิมลี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงคมนาคม เดินทางมาตรวจราชการ เพื่อติดตามแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ พร้อมเข้าร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาบนถนนทางหลวง 219 บริเวณจุดตัดข้ามกับทางรถไฟ การดำเนินการแก้ไขปัญหาจุดกลับรถ บริเวณจุดตัดถนนทางหลวง 226 ตัดกับถนนสาย ต.สวายจีก อ.เมืองบุรีรัมย์ กับ ต.สนวน อ.ห้วยราช การดำเนินงานเตรียมความพร้อมรองรับ โมโต จีพี 2019 และรถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น สถานีรถไฟบุรีรัมย์ และสรุปแนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์

...
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มอบหมายกรมทางหลวง พิจารณาความเหมาะสมการนำแบริเออร์ที่ผลิตจากยางพารา ที่สามารถรองรับความเร็วรถ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ มาใช้ทดแทนการก่อสร้างเกาะกลางถนน ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน บูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ความร่วมมือในการก่อสร้างโครงการต่างๆ เพื่อให้แล้วเสร็จและเพื่อความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ
จากนั้น รมว.คมนาคม และคณะได้เดินทางไปตรวจพื้นที่ บริเวณจุดกลับรถซึ่งเป็นสี่แยก จุดตัดถนนทางหลวง 226 กับถนนสาย ต.สวายจีก อ.เมืองบุรีรัมย์ กับ ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ โดยมีตัวแทนประชาชนชาว ต.สวายจีก อ.เมือง กับ ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ กว่า 100 คน ที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากการสร้างเกาะกลางถนน และนำแท่งแบริเออร์มาปิดกั้น ไม่ให้กลับรถในบริเวณดังกล่าว และต้องไปกลับรถไกลรวมระยะทางไป-กลับประมาณ 2-4 กิโลเมตร มารอให้การต้อนรับและกำลังใจ รมว.คมนาคม พร้อมเรียกร้องให้ รมว.คมนาคม ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขอให้มีการทำทางลอดในจุดตัดบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสัญจรไปมาได้สะดวก และเกิดความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนน

ก่อนจะไปตรวจพื้นที่ ถนนบริเวณบ้านสองชั้น ต.สองชั้น อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างขยายช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ซึ่งพบว่าจุดที่เกิดอุบัติเหตุ 3 จุดที่พบบ่อยครั้ง ได้แก่ บริเวณต้นสำโรง ทางแยกปราสาท- พลับพลาชัย และบริเวณหน้าโรงเรียนในชุมชน ซึ่งมีประชาชนสัญจรไปมาจำนวนมาก ชาวบ้านในชุมชน จึงขอให้พิจารณาการก่อสร้างสะพานลอยคนข้าม ปรับตำแหน่งจุดกลับรถใกล้โรงเรียน และการใช้เกาะกลางถนน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและความปลอดภัยแก่นักเรียน และประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า บริเวณจุดกลับรถดังกล่าวซึ่งเป็นจุดตัดสี่แยก และอยู่ใกล้กับช่วงทางโค้ง ทำให้รถที่มาจากทางตรงถนนทางหลวงสาย 226 บุรีรัมย์-สุรินทร์ วิ่งมาด้วยความเร็วสูง ประกอบกับชาวบ้านในพื้นที่สัญจรไปมาจะข้ามถนน แต่เป็นถนนสายรองใสจุดตัดสี่แยก เชื่อมระหว่าง ต.สวายจีก อ.เมืองบุรีรัมย์ กับ ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ เป็นทางลาดชัน ทำให้รถต้องเร่งเครื่องขึ้น เพื่อจะข้ามทางบริเวณทางกลับรถดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ซึ่งหลังจากที่ได้มีการทำถนนสี่เลนขึ้นมา ตอนแรกได้มีการแก้ชั่วคราว โดยทางหน่วยงานในระดับจังหวัดได้นำแท่งแบริเออร์ มากั้นวางปิดไม่ให้กลับรถบริเวณดังกล่าว โดยให้ไปรถกลับรถอีกที่หนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างไปอีกกว่า 1 กิโลเมตร แต่กรมทางหลวงจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มาทำเป็นเกาะกลางถนน แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการเกาะกลางถนน และทางกลับรถอยู่ไกล เนื่องจากต้องใช้เวลาไปกลับไม่ต่ำกว่า 2-4 กิโลเมตร ทำให้เกิดความยากลำบากและเสียเวลา ซึ่งประชาชนในพื้นที่เสนอความต้องการให้ มีการทำถนนทางลอดในบริเวณจุดตัดสี่แยกดังกล่าว ซึ่งมองว่างบประมาณในการดำเนินการคงไม่มากเท่าไร เข้าใจว่าได้มีการออกแบบไว้แล้ว
...

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า โดยหลักจริงๆ มันมีหลายวิธี แต่ต้องมองว่าเกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับประชาชนมากน้อยเพียงใด ซึ่งถนนหรือสี่แยกทางกลับรถในลักษณะอย่างนี้มีเยอะ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างทางลอด บริเวณสี่แยกดังกล่าวภายในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจะนานหรือไม่นั้นก็ต้องดำเนินการทำเรื่องของบประมาณไปก่อน แต่ทั้งนี้ยังมีอีกหลายช่องทางการช่วยเหลือ อย่างเช่น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดมีงบประมาณบูรณาการของจังหวัดก็มี ซึ่งคิดว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นจะดูกันทั้งประเทศ ไม่ใช่ว่าจะมาแก้เฉพาะที่บุรีรัมย์ แต่บริเวณจุดตรงนี้เป็นเพียงกรณีศึกษาที่เราจะได้เห็นว่านี่มันคือปัญหาที่ทำให้พี่น้องประชาชน ได้รับอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุ ที่นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิต ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน