กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะน้อยกว่าปกติ แถมพ่วงด้วยจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่าปกติ...ต้องยอมรับวันนี้ภาวะโลกร้อน ออกลายให้เห็นถี่บ่อย ไม่เพียงฤดูแล้งจะร้อนสาหัสหนักกว่าเดิม ภาวะแห้งแล้งยังลามระบาดมาถึงฤดูฝน
เป็นเกษตรกรยุคนี้ถ้าหวังพึ่งฝนฟ้าจากธรรมชาติ ไม่รู้จักสร้างแหล่งน้ำให้เป็นของตัวเอง ไม่รู้จักเก็บรักษาความชุ่มชื้นให้ผืนดินทำกิน ชีวิตคงอยู่ยาก...เพราะในอนาคตมีแนวโน้ม ปรากฏการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นถี่บ่อยมากยิ่งขึ้นไปกว่านี้
แต่เมื่อพูดถึงสร้างแหล่งน้ำ หลายคนนึกถึงการขุดบ่อ สร้างสระ แล้วก็บ่นเสียดายที่ดิน เสียพื้นที่เพาะปลูก เลยไม่อยากขุด ไม่อยากสร้างแต่ยังมีการขุดสร้าง แหล่งเก็บน้ำอีกแบบ ที่ทำให้เราไม่รู้สึกเสียดายที่ดิน เรายังปลูกอะไรได้มากมาย แถมยังทำให้ดินชุ่มชื้น ต้นไม้เจริญได้งอกงามแบบไม่ต้องกลัวแล้งแต่อย่างใด
...
เพราะมันเป็นแค่การขุดหลุม...สร้างธนาคารน้ำใต้ดิน
“น้ำใต้ดินเปรียบเสมือนตู้ ATM หากไม่มีใครหมั่นเอาเงินมาเติมใส่ตู้ เราจะไม่สามารถกดเงินออกมาใช้ได้ ธนาคารน้ำใต้ดินก็เช่นกัน เราต้องรู้จักเติมน้ำลงไปใต้ดิน เพื่อให้ดินชุ่มฉ่ำเต็มที่ น้ำจะซึมซับไปทั่วบริเวณแปลงเพาะปลูก รากของพืชสามารถชอนไชไปยังแหล่งน้ำใต้ดินได้ ฉะนั้น เราจึงต้องจัดการเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาจากท้องฟ้าอย่างเป็นระบบ”
นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน หนึ่งในทีมวิทยากรโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน สโมสรโรตารีชุมแพ จ.ขอนแก่น กล่าวขณะกำลังอธิบายให้ นายสุวรรณ สารทแก้ว นายกเทศมนตรี ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว ซึ่งนำเกษตรกร 50 คน มาเข้าร่วมอบรม วิธีการขุดหลุมสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน ณ ไร่ ต.แสงชัย อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
วิธีการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน ไม่มีอะไรมาก ...เริ่มจากขุดหลุมกว้าง 2 ม. ลึก 2 ม. บริเวณพื้นก้นหลุมขุดให้มีสะดือหลุมลึกประมาณ 1 ฟุต
จากนั้นให้นำวัสดุอย่างอื่นใส่ลงไปที่สะดือหลุมแบบสะเปะสะปะเพื่อให้มีรูโพรง ใส่ลงไปได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นอิฐ ก้อนหิน หรือวัสดุเหลือใช้ อย่างขวดแก้ว หรือขวดน้ำพลาสติกแต่ต้องเติมน้ำลงไป 70% แล้วปิดฝาเพื่อไม่ให้ขวดพลาสติกบุบ แล้ววางยางรถยนต์ซ้อนให้สูงถึงปากหลุม แล้วเสียบท่อพีวีซีขนาด 2 นิ้ว ลงไปที่กลางวงล้อยางรถยนต์ โดยให้ปลายท่อโผล่ขึ้นมาเหนือดินเพื่อสร้างทางเดินอากาศให้หมุนเวียน
ในวงล้อยางและรอบๆหลุม ให้ใส่วัสดุอย่างไม่เป็นระเบียบเหมือนกับที่ใส่ไปในสะดือหลุมนั่นแหละ...ใส่ไปจนเต็มหลุม กลบด้วยหินกรวด คลุมด้วยมุ้งตาข่ายพลาสติกที่ปากหลุม ขั้นตอนสุดท้ายใช้ดินกลบอีกชั้น
เพียงแค่นี้ก็จะได้ธนาคารน้ำใต้ดิน ไว้คอยสร้างความชุ่มชื้นเป็นบำนาญกับผืนดินในบริเวณนั้นได้ตราบนานเท่านาน
นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน บอกว่า จากเดิมทีชาวบ้านแถวนี้ เคยขุดเจาะบ่อบาดาลสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ไม่นาน พอถึงหน้าแล้งบ่อมักจะแห้งไม่มีน้ำใช้ทุกปี แต่หลังจากทำหลุมธนาคารน้ำใต้ดิน ปรากฏว่า บ่อน้ำบาดาลกลับมีให้สูบขึ้นมาใช้ได้ทั้งปี แม้แต่ในหน้าแล้ง ก็ยังมีน้ำให้สูบใช้ได้เหมือนเดิม
...
ข้อดีของการมีธนาคารน้ำใต้ดินแบบนี้... เกษตรกรสามารถขุดทำไปได้ทุกพื้นที่ จะสร้างหลุมธนาคารน้ำใต้ดินให้มีสาขามากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ยิ่งมีมาก ยิ่งทำให้แผ่นดินชุ่มชื้นมากเท่านั้น
เรียกว่า ถ้าปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น แทบไม่ต้องรดน้ำเลยก็ว่าได้ เพราะดินจะมีน้ำใต้ดินหล่อเลี้ยงความชุ่มชื้นตลอดเวลา แต่ธนาคารน้ำใต้ดินแบบนี้ จะให้ผลดีอย่างสมบูรณ์ ต้องรอหลัง 2-3 ฤดูฝนผ่านไป ถึงจะมีน้ำใช้ตลอดปี.
สมพงค์ เกียรติพนมแพ