คนติดป้ายทวงหนี้ ผอ.บนสะพานลอย กลางเมืองกาฬสินธุ์ เป็นผู้รับเหมาหญิง คับแค้นใจหลังก่อสร้างให้กับโรงเรียนเสร็จ แต่กลับถูกอดีต ผอ.เบี้ยวไม่จ่ายเงิน 5.2 ล้าน ผ่านมากว่า 3 ปี ยังไม่ได้เงิน ทำครอบครัวเป็นหนี้สินท่วมหัว
จากกรณีมีคนสวมหมวกไอ้โม่งนำป้ายไวนิลขนาดใหญ่ ซึ่งมีข้อความคล้ายกับเป็นการทวงหนี้ระบุว่า “ผอ.สั่งทำงาน งานเสร็จ ไม่มีเงินจ่าย ใครจะรับผิดชอบ” และ “ผอ.เห็นพวกเราเป็นคนมั้ย สงสารพวกเราบ้างหรือเปล่า” มาติดไว้บนสะพานลอยบริเวณหน้าโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองกาฬสินธุ์ ทำให้ผู้คนที่ผ่านไปมาเกิดความสงสัยและฮือฮาเป็นอย่างมาก เพราะอยากทราบถึงสาเหตุที่นำมาติดนั้นเพราะอะไร และต้องการทวงหนี้กับ ผอ.คนใด
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป้ายดังกล่าวมีคนปลดออกแล้ว ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังผู้รับเหมาหญิงคนดังกล่าว ทราบชื่อ คือ นางวิจิตรา บุญรัตน์ อายุ 51 ปี ชาว ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งยอมรับว่าเป็นผู้นำป้ายข้อความดังกล่าวมาติดไว้บนสะพานลอยจริง เนื่องจากต้องการขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลังจากตนเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาที่ถูกอดีต ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่ง ใน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ว่าจ้างให้ก่อสร้างปรับปรุงโรงเรียนจนแล้วเสร็จ หลายโครงการ แต่ไม่ยอมจ่ายเงิน จำนวน 5,200,000 บาท จนทำให้ครอบครัวเป็นหนี้สิน ที่นาถูกยึดไม่มีเงินจ่ายค่าแรงคนงาน ซึ่งเวลาผ่านมานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน จึงต้องการให้สังคมรับทราบข้อเท็จจริง

...
โดยนางวิจิตรา กล่าวทั้งน้ำตาว่า ยอมรับว่า เป็นผู้ที่นำป้ายข้อความดังกล่าวไปติดไว้บนสะพานลอยจริง เนื่องจากตนเองหมดหนทางที่จะต่อสู้แล้ว และไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร อีกทั้งยังเกิดความคับแค้นใจอย่างมาก หลังจากเมื่อปี 2558 ตนได้ทำงานก่อสร้างให้กับโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ จนแล้วเสร็จหลายโครงการ แต่กลับถูกอดีตผู้อำนวยการ ซึ่งปัจจุบันทราบว่า ย้ายมาเป็น ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งในตัวเมืองกาฬสินธุ์ ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้กับตน จำนวน 5,200,000 บาท ทำให้ตนต้องนำที่นา บ้าน และที่ดินไปจำนองกับธนาคาร เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าแรงคนงานกว่า 40 ชีวิต จ่ายค่าวัสดุก่อสร้างให้กับร้านค้าที่ได้นำวัสดุมาทำงานก่อสร้าง และจ่ายดอกเบี้ยที่ไปกู้ยืมมา

นางวิจิตรา กล่าวอีกว่า ตนเป็นเพียงผู้รับเหมาเล็กๆ ทำงานก่อสร้างโครงการเล็กๆ หาเช้ากินค่ำ และต้องดูแลชีวิตคนงานกว่า 40 คน แต่กลับมาถูกรังแก ซึ่งเรื่องดังกล่าวที่ผ่านมาตนได้เข้าขอความเป็นธรรมให้ช่วยเหลือไปยังหลายหน่วยงาน เดินทางไปจนถึงสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งมีเพียงผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ และสำนักงานยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ เท่านั้น ที่ให้การช่วยเหลือ โดยการช่วยเหลือเรื่องทนายความสู้คดี และดำเนินการด้านกฎหมายในการฟ้องศาลปกครอง ซึ่งจะต้องใช้เวลานาน ส่วนหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดของโรงเรียนดังกล่าวทั้ง สพม.24 และสำนักงานศึกษาธิการ จ.กาฬสินธุ์ ยังไม่ได้ดำเนินการช่วยเหลือแต่อย่างใด จนเวลาผ่านล่วงเลยมาแล้วมากกว่า 3 ปี ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จนทำให้ขณะนี้ครอบครัวของตนเป็นหนี้เป็นสินท่วมหัวไป ดังนั้นจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ด้วย เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชน และหากปล่อยไว้ บ้าน ที่ดิน รวมทั้งทรัพย์สินต่างๆ ที่สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนมาทั้งชีวิต คงจะถูกธนาคารยึดไปเหมือนที่นาอย่างแน่นอน
ด้าน นายเอกรักษ์ สารปรัง ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ยอมรับว่า โรงเรียนเป็นหนี้ผู้รับเหมาจริง ซึ่งเป็นค่าก่อสร้างจำนวนเงินประมาณ 15 ล้านบาท โดยเรื่องดังกล่าวเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2558 ตั้งแต่ผู้อำนวยการคนเก่า ส่วนตนนั้นได้เข้ามารับตำแหน่งเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งเมื่อปี 2558 ทางโรงเรียน โดยผู้อำนวยการคนเก่าได้ว่าจ้างช่างทำรับเหมาประมาณ 10 ราย มาปรับปรุงโรงเรียนหลายโครงการ เป็นเงินกว่า 15 ล้านบาท แต่เมื่องานเสร็จแล้ว ซึ่งเกินงบประมาณ จึงไม่มีเงินจ่าย จนทำให้ผู้รับเหมาไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่ 24 และล่าสุด ไปติดป้ายทวงเงินที่บนสะพานลอยกลางเมืองกาฬสินธุ์

ทั้งนี้ หลังจากเกิดเรื่องขึ้นทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 24 ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้ว และทางโรงเรียนก็พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัด เพื่อที่จะนำเงินที่เหลือจากโครงการต่างๆ ทยอยใช้หนี้ให้กับผู้รับเหมาปีละประมาณ 1 ล้านบาท ตามสัดส่วนของแต่ละราย ทั้งนี้ เนื่องจากทางโรงเรียนมีงบประมาณแต่ละปีประมาณ 8 ล้านบาท ซึ่งจะต้องนำไปพัฒนาการเรียนการสอน และคุณภาพด้านการศึกษาเป็นหลัก เพื่อไม่ให้กระทบกับเด็กนักเรียน ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีจำเป็นที่จะต้องทยอยใช้หนี้ได้เพียงปีละ 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 นี้ทางโรงเรียนกำลังปรึกษากับคณะกรรมการโรงเรียน เพื่อที่จะเพิ่มการใช้หนี้เป็น 1.5 ล้านบาท เนื่องจากมีความเห็นใจผู้รับเหมาที่ก่อสร้างทำงานเสร็จแล้วกลับไม่ได้เงิน และพยายามมาทวงถามพูดคุยหลายคนถึงกับร้องไห้ แต่ทางโรงเรียนก็ยืนยันว่า สามารถจ่ายได้แค่นี้ เพราะหากจ่ายมากกว่านี้จะทบต่อการพัฒนาด้านการศึกษาของนักเรียน
...