เปิดใช้แล้ว "ถนนยางพารา" สายแรกที่ขอนแก่น ฝีมือกรมชลประทาน ย้ำชัดเร่งพัฒนาถนนลูกรังอีก 2,600 กม. ให้เป็นถนนยางพาราทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ชูความเป็นไทย ด้วยงบไทยนิยมยั่งยืน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 ต.ค.2561 ที่ถนนบนคันคลอง RMC (ฝั่งซ้าย) ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดการใช้ถนน ตามโครงการปรับปรุงผิวจราจรบนถนนบนคันคลอง RMC (ฝั่งซ้าย) ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น ได้ดำเนินการปรับปรุงผิวการจราจรดังกล่าวแล้วเสร็จ ในระยะทาง 3 กม. ด้วยงบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน รวม 10,937,643 บาท เชื่อมต่อระหว่าง ต.เมืองเก่า, ต.พระลับ และเขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยมีประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบลร่วมเป็นสักขีพยานและร่วมยินดีในการเปิดใช้ถนนเส้นทางสายดังกล่าวเป็นจำนวนมาก


นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น ครอบคลุมพื้นที่ จ.ขอนแก่น, ชัยภูมิ, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์และ จ.ร้อยเอ็ด จนได้ข้อสรุปในการดำเนินงานรวม 253 โครงการ งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในโครงการไทยนิยมยั่งยืนทั้งสิ้น 1,041 ล้านบาท ทั้งหมดได้ถูกนำมาดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้เกษตรกร ภายใต้กรอบการขับเคลื่อนคนไทยไม่ทิ้งกัน ในพื้นที่เป้าหมาย 11 แห่ง งบประมาณ 12.85 ล้านบาท และการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวรัฐบาลได้สนับสนุนและส่งเสริมในการนำยางพาราของเกษตรกรไทยนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการในกรอบชุมชนอยู่ดีมีสุข ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด รวมระยะทาง 23.37 กม. มีปริมาณการใช้ยางพารามากถึง 230.34 ตัน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำชลประทานเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งอีกด้วย

...

“ถนนยางพาราบนคันคลอง RMC ฝั่งซ้าย ช่วงที่ 2 เป็น 1 ใน 13 โครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐเชื่อมต่อ 3 ตำบลของ อ.เมืองขอนแก่น ที่มีส่วนผสมของยางพารา 5% โดยถนนมีความกว้าง 6 เมตร แบ่งเป็นผิวการจราจร 6 เมตร และไหล่ทาง 1.5 เมตร ระยะทางรวม 3 กม. สามารถสนับสนุนการใช้ยางพาราเฉพาะถนนเส้นทางดังกล่าวนี้ได้ถึง 11.25 ตัน โดยจัดเป็นโครงการในการปรับปรุงถนนเส้นทางนี้ที่ใช้งานมานานกว่า 15 ปี และได้รับงบประมาณจากรัฐบาลดำเนินการปรับปรุงถนนในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในสัดส่วนร้อยละ 5 นั้นเป็นไปตามหลักวิศวกร ที่สามารถได้ตามปกติทั่วไป และที่สำคัญยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชูความเป็นไทยในการนำผลผลิตทางการเกษตรมาใช้ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในภาพรวม”

นายทวีศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบัน ถนนในความรับผิดชอบของกรมชลประทานทั่วทั้งประเทศมีทั้งหมดประมาณ 9,000 กม. ในจำนวนนี้ลาดยางไปแล้ว 6,000 กม. คงเหลือเป็นถนนลูกรังประมาณ 2,600 กม. ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่เขตชลประทานการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนโดยเฉพาะกับผู้ใช้รถใช้ถนนในเขตชลประทาน จึงมีแนวทางของการดำเนินงานที่จะเป็นการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมที่สำคัญเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ ที่จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ตามนโยบายของทางรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย