คนไทยหลายๆ คน อาจจะยังแยกไม่ออก ระหว่างข้าวอินทรีย์ กับข้าวปลอดสารพิษ บ้างก็คิดว่าข้าวทั้ง 2 ประเภทเหมือนกัน ต่างกันที่การเรียกชื่อ บ้างก็คิดว่าข้าวอินทรีย์คือข้าวที่ใช้สารอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี และข้าวปลอดสารพิษ คือ ข้าวที่ใช้สารเคมีในปริมาณที่พอเหมาะ แต่ปลอดภัย

แต่ในเรื่องนี้ ความจริงที่ถูกต้องที่หลายคนอาจยิ่งเกิดความสงสัยว่า ทำไมข้าวปลอดสารพิษจึงถูกเรียกเช่นนี้ ทั้งที่เกษตรกรก็ยังใช้สารเคมี ด้วยเหตุนี้กรมการข้าวจึงขอยกตัวอย่าง กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ต.เมยวดี อ.เมยวดี จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับรางวัลศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนดีเด่นแห่งชาติ ประเภทข้าวหอมมะลิ ประจำปี 2561 อีกทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐานข้าว GAP จากกรมการข้าว เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปของข้าวปลอดสารพิษที่หลายๆ คนยังไม่รู้



น.ส.นิภากร จิตจิกร เลขากลุ่มนาแปลงใหญ่ ต.เมยวดี อ.เมยวดี จ.ร้อยเอ็ด ได้อธิบายถึงระบบการจัดการภายในกลุ่มตั้งแต่เริ่มต้นว่า มีสมาชิกจำนวน 140 ราย มีพื้นที่รวม 2,800 ไร่ และมีจุดเด่นของข้าวหอมมะลิ 105 เป็นรายได้หลัก ซึ่งระบบการจัดการในกลุ่ม เกษตรกรทุกคนจะต้องมีการประชุมวางแผนก่อนการปลูกข้าวทุกครั้ง เพื่อแบ่งพื้นที่ในการปลูกข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ในแปลงของสมาชิกกลุ่ม และหารือถึงการดูแลข้าวในแต่ละช่วง ว่าในแต่ละช่วงของการดูแล ควรจะใช้สารเคมีในช่วงไหน และในปริมาณเท่าไรที่จะไม่ส่งผลเสียต่อต้นข้าว เมล็ดพันธุ์ และสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งสมาชิกกลุ่มทุกคนจะต้องคอยเอาใจใส่และป้องกันต้นข้าว ไม่ให้เกิดโรคและศัตรูพืช เพื่อที่เกษตรกรทุกคนจะใช้สารเคมีได้น้อยที่สุด รวมทั้งจะมีการจัดตั้งผู้ตรวจแปลงนา เพื่อตรวจสอบคุณภาพของข้าวในแต่ละแปลง นอกจากนี้ ยังต้องกำหนดวันที่จะลงเก็บพืชพันธุ์ปนในแปลงข้าว เพื่อไม่ให้ปะปนกับต้นข้าวที่รอวันเก็บเกี่ยว

...

"โดยผู้ตรวจสอบแปลงนาจะต้องเข้มงวด และมีความซื่อตรงในการตรวจสอบ เพื่อให้เกษตรกรในกลุ่มมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม และแปลงนาของตนเอง เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อข้าวที่เก็บเกี่ยว ซึ่งหากเมื่อถึงวันเก็บเกี่ยว พบว่าข้าวขาดคุณภาพ และมีพืชปนเยอะมากเกินไป จะทำให้ข้าวไม่สามารถส่งขายให้ได้ราคาที่กลุ่มวางไว้ และจะส่งให้เกษตรกรที่ผิดระบบระเบียบของกลุ่มถูกพักการทำนาร่วมกับเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ นี่จึงทำให้เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ ต.เมยวดี อ.เมยวดี จ.ร้อยเอ็ด ต้องช่วยกันตักเตือนและดูแลเพื่อนในสมาชิกกลุ่มให้ทำตามกฎระเบียบของกลุ่มอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้กลุ่มได้รับรางวัลศูนย์ส่งเสริมและผลิตข้าวชุมชนเกษตรกรดีเด่น ประเภทข้าวหอมมะลิ ประจำปี 2561 และส่งผลให้ข้าวของกลุ่มเป็นที่รู้จัก และยอมรับทางตลาดข้าวของจังหวัด" น.ส.นิภากร กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้รับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจนี้กลับมาแล้ว ทำให้สมาชิกกลุ่มมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา แปรรูปข้าวของตนเองเป็นรูปแบบต่างๆ เพื่อยกระดับสินค้า ข้าวหอมมะลิ 105 ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ กลุ่มนาแปลงใหญ่ ต.เมยวดี ยังเตรียมความพร้อมพัฒนาข้าว GAP ของกลุ่ม จากข้าวปลอดสารพิษให้เป็นข้าวอินทรีย์ ในอีกไม่ช้าอย่างแน่นอน.