แพทย์ชี้ชัด 'ยายแงง' ตาติดเชื้อรุนแรง จากเชื้อแบคทีเรีย เตือนประชาชน ยากินกับยาหยอดตา ไม่มีทางเป็นตัวเดียวกันได้ ด้าน อย. ย้ำอาหารเสริม ไม่ใช่ยาใช้รักษาโรค

วันที่ 6 ก.ย.2561 นายแพทย์สมศักดิ์ ประฏิภาณวัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โรงพยาบาลขอนแก่น พร้อมด้วย แพทย์หญิงขวัญหทัย รัตนาเอนกชัย หัวหน้ากลุ่มงานจักษุวิทยา โรงพยาบาลขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ถึงกรณี นางคำแงง สุวรรณะ อายุ 55 ปี ชาว ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่นำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาหยอดตา ตามคำแนะนำของคนขาย ว่าจะสามารถรักษาต้อเนื้อในตาให้หายได้ กระทั่งต้องสูญเสียดวงตาข้างขวาไป เพราะเกิดติดเชื้ออย่างรุนแรง กระจกตาทะลุ ต้องผ่าตัดเอาดวงตาออกเท่านั้น

แพทย์หญิงขวัญหทัย เผยว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวมาด้วยอาการแสบตา เคืองตามาประมาณ 1 เดือน และตรวจพบภาวะกระจกตาขุ่นขาว อักเสบ คาดว่าติดเชื้อที่กระจกตารุนแรง จึงให้แอดมิด และหยอดยาฆ่าเชื้อที่ตา กระทั่งวันต่อมาพบว่ากระจกตาที่อักเสบนั้นเกิดการทะลุ จึงได้ทำการผ่าตัดด่วน เพื่อไม่ให้เชื้อลุกลามไปที่สมองและตาอีกข้าง

ซึ่งอาการตาอักเสบและติดเชื้อนั้น มีสาเหตุอยู่ 2 ปัจจัยคือ เชื้อรา และ เชื้อแบคทีเรีย โดยในรายของยายแงง เกิดจากลักษณะติดเชื้อแบคทีเรีย คนไข้มีอาการหนัก หากปล่อยไว้มีโอกาสเสี่ยงต่อชีวิต ต้องรีบทำการผ่าตัดเอาดวงตาออกเท่านั้น แพทย์จึงสั่งให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และได้นำเชื้อไปเพาะก็พบว่าเกิดจากแบคทีเรียจริง

“ยาที่ใช้ในการหยอดตา ต้องผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน และยากินกับยาหยอด ไม่มีทางที่จะเป็นยาตัวเดียวกันอยู่แล้ว ซึ่งสาเหตุนั้นไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าในรายของยายแงงเกิดจากการนำผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมาหยอดตาหรือไม่ เพราะอาการที่มาพบแพทย์นั้นหนักมาก ไม่สามารถระบุได้แน่ชัด ซึ่งถามว่าหยอด 6 ครั้งติดเชื้อได้หรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะหากกระจกตาถลอกอยู่แล้ว ก็อาจจะติดเชื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นการขยี้ตาแรงๆ หรือมีเชื้อโรคที่มีฤทธิ์รุนแรงกระเด็นมาเข้าตาก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน”

...

อยากจะฝากเตือนประชาชนว่า ยาหยอดตาหากเราจะใช้ควรอ่านให้ละเอียดที่ข้างขวด ว่าสำหรับหยอดตาหรือกิน เพราะหากใช้ผิดประเภทอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ และยาหยอดตา หากเปิดมาแล้ว 1 เดือน ควรทิ้งทันทีไม่ควรนำมาใช้ใหม่ แต่ที่สำคัญที่สุดคืออ่านเอกสารกำกับยาให้ละเอียด อย่าหลงเชื่อคำพูดปากต่อปาก เพราะอาจทำให้เกิดเหตุซ้ำเหมือนในรายของยายแงง ที่ต้องสูญเสียดวงตาไปตลอดชีวิต ทางที่ดีที่สุดหากมีอาการผิดปกติที่ดวงตาควรรีบมาพบแพทย์ทันที

ขณะที่ นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า อาหารเสริมไม่ใช่ยาที่ใช้รักษาโรคใดๆ ได้ ที่สำคัญการจ่ายยาใดๆ ให้ผู้ป่วย ต้องเป็นแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้เข้าข่ายโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือหลอกลวง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งสั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นเก็บผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ขออนุญาต อย. ดังกล่าวแล้ว เพื่อนำไปตรวจสอบว่ามีส่วนผสมสารที่เป็นอันตรายหรือไม่ หากพบมีการปลอมปนสารอันตรายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบแล้วว่าใครเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ จึงประสานไปยัง สคบ.ให้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย พร้อมประสาน กสทช. ให้ปิดเว็บไซต์ที่โฆษณาผลิตภัณฑ์ดังดล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม อย. ขอเตือนประชาชนที่บริโภคอาหารเสริม ให้ตรวจสอบเลขทะเบียนและตรารองรับจาก อย. ให้ถูกต้อง หากมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงให้โทรสอบถามสายด่วน 1556.