คนริมโขงเตรียมพร้อม หลังระดับน้ำเพิ่มสูงต่อเนื่อง บึงกาฬ ประกาศพื้นที่ประสบภัยใน 2 อำเภอ นครพนมยังห่างจุดวิกฤติ 80 ซม. มีน้ำเอ่อท่วม 4 อำเภอ ส่วนหนองคายระดับน้ำเฉลี่ยสูงขึ้นชั่วโมงละ 2.5 ซม.

วันที่ 2 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.บึงกาฬ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้เพิ่มสูงขึ้น โดยช่วงเช้าวัดได้ 12.50 เซนติเมตร สูงขึ้นจากเมื่อวานนี้ 0.21 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 1.50 เซนติเมตร ส่งผลให้มีน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำโขง ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านแล้ว 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า และอำเภอบึงโขงหลง บางแห่งมีระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร น้ำโขงได้หนุนลำน้ำสาขาเอ่อท่วมถนนทางเข้าหมู่บ้าน บ้านเทพมีชัย ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า ระดับน้ำสูงกว่า 30 เซนติเมตร ระยะทางยาวกว่า 300 เมตร รถเล็กที่สัญจรเข้าออกหมู่บ้านต้องใช้ความระมัดระวัง

ล่าสุด นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.บึงกาฬ ได้ลงพื้นที่ออกตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยง พร้อมด้วยนายอำเภอบุ่งคล้า ปภ.จังหวัด เจ้าหน้าที่ทหารรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดบึงกาฬ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน สำรวจปริมาณน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งเตรียมรับมือน้ำโขงหนุนสูง สร้างความเชื่อมั่นให้พี่น้องประชาชน

ด้าน ปภ.ได้สรุปมีพื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ 6 ตำบล 26 หมู่บ้าน พื้นที่เกษตรถูกน้ำท่วมกว่า 3,000 ไร่ บ่อปลา 63 บ่อ พร้อมออกประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยแล้ว 2 อำเภอ คืออำเภอเมืองบึงกาฬ และอำเภอบุ่งคล้า มี 4 ตำบล 21 หมู่บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจความเสียหาย และช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบต่อไป

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.บึงกาฬ กล่าวว่า จังหวัดบึงกาฬยังไม่มีน้ำท่วมในเขตชุมชนเมือง ยังระบายลงน้ำโขงได้ดี การระบายน้ำจากหนองน้ำต่างๆ ยังทำได้ช้า เนื่องจากติดน้ำโขงที่หนุนสูง และไหลย้อนเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมหนองหลายจุด ซึ่งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เดินเยี่ยมและให้คำแนะนำความปลอดภัยทุกพื้นที่เสี่ยง หากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอีก หรือกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ริมแม่น้ำโขงก็พร้อมจะขนย้ายอพยพประชาชน ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ แนวโน้มระดับทรงตัว ถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ยังควบคุมได้ โดยใช้แผนเผชิญเหตุที่สนธิกำลังทุกหน่วย ในรูป “ทีมบึงกาฬ” ออกปฏิบัติการร่วมกัน

...

ที่ จ.นครพนม สถานการณ์น้ำโขงยังน่าเป็นห่วง ล่าสุดใกล้ถึงจุดวิกฤติสูงสุด มีระดับอยู่ที่ประมาณ 12.20 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติสูงสุดที่ 13 เมตร ประมาณ 80 เซนติเมตร ส่งผลต่อลำน้ำสาขาสายหลัก ไหลระบายลงน้ำโขงช้า เกิดปัญหาเอ่อท่วมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงติดกับลำน้ำโขง มี 4 อำเภอ มี อำเภอธาตุพนม อำเภอเมือง อำเภอบ้านแพง และ อำเภอท่าอุเทน นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ติดกับลำน้ำอูน อ.นาหว้า อ.โพนสวรรค์ ลำน้ำสงคราม อ.ศรีสงคราม รวมไปถึงลำน้ำก่ำ อ.ธาตุพนม อ.นาแก ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำโขงหนุนเอ่อท่วม บ้านเรือน พื้นที่การเกษตร เบื้องต้น พบว่ามีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบแล้วเกือบ 50,000 ไร่

นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครพนม ได้ระดมเจ้าหน้าที่ ทำการปิดทางระบายน้ำ ที่ระบายน้ำจากตัวเมืองนครพนม ลงแม่น้ำโขง ป้องกันแม่น้ำโขงไหลย้อนกลับ เนื่องจากมีระดับสูงเกินท่อระบายน้ำ นอกจากนี้ ยังได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ตามจุดเสี่ยงเพิ่ม จากเดิมมีระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า รวมถึง 17 จุด เพื่อเร่งสูบน้ำจากตัวเมืองไหลระบายลงแม่น้ำโขง ป้องกันปัญหาน้ำโขงเอ่อท่วม และรับมือฝนตกหนัก โดยในปีนี้ถือว่าระดับน้ำโขงสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะยังมีมวลน้ำอีกหลายพื้นที่ จะไหลมาสมทบ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังหนักกว่าทุกปี หากมีฝนตกต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันที่ จ.หนองคาย สถานการณ์น้ำโขงวันที่ 2 ส.ค. 61 วัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย วัดได้ 11.56 เมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 34 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 64 เซนติเมตร โดยระดับน้ำเฉลี่ยสูงขึ้นชั่วโมงละ 2.5 เซนติเมตร ทำให้ระดับน้ำถึงจุดวิกฤติเท่ากับปากท่อระบายน้ำของเทศบาล 11.40 เมตร เทศบาลจึงได้ทำการปิดประตูน้ำทั้งหมด 4 บาน คือที่ซอยท่าค่าย, ซอยฮ่อ, ชุมชนสระแก้ว และชุมชนใต้ธาตุ แล้วเดินเครื่องสูบน้ำจากท่อระบายน้ำต่างๆ ในเขตเมืองหนองคายลงสู่แม่น้ำโขง ป้องกันไม่ให้น้ำโขงหนุนเข้ามาตามท่อระบายน้ำเข้าท่วมเขตเมืองหนองคาย โดยจะเดินเครื่องสูบน้ำจนกว่าระดับน้ำโขงจะลดลงต่ำกว่าปากท่อระบายน้ำ ซึ่งระดับน้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ชาวหนองคายได้เกาะติดสถานการณ์และเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมตัวอพยพ หากน้ำโขงล้นตลิ่งหรือเกิน 12.20 เมตร