ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบ ไม่ให้สะเปะสะปะ เดินไปคนละทิศละทางเหมือนในอดีต
ล่าสุด นายสมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการ สทนช. เดินหน้าตรวจการบ้านการรับมือปัญหาน้ำท่วมใน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมรับมือฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงในไม่ช้า...แต่ดูเหมือนปัญหายังคงเดิม
การทำพนังกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วม...ยังคงหาเจ้าภาพหลัก ไม่ได้เหมือนเดิม
ด้วยแม่น้ำทั้งสายมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบดูแล กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งจังหวัด แทนที่จะมาร่วมบูรณาการทำงานให้เป็นหนึ่งเดียว พูดคุยแบ่งงาน แบ่งพื้นที่ทำกันไปคนละช่วงละตอน...กลับยังคงคิดทำกันแบบต่างฝ่ายต่างทำ ตามที่ตัวเองต้องการ
พนังกั้นน้ำเลยถูกสร้างขึ้นแบบขาดตอนขาดช่วง ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้
แม้กระทั่งการสั่งปล่อยระบายน้ำออกจากเขื่อน ยังคงมีปัญหาในเรื่องของอำนาจสั่งการ แทนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะสามารถสั่งได้ กลายเป็นว่า การระบายน้ำจากเขื่อนบางแห่งอำนาจอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เลยทำให้การระบายน้ำบางครั้งทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมมากขึ้น
นอกจากนั้น ลำน้ำ 1 สาย ไหลผ่านหลายจังหวัด การสั่งระบายน้ำต้องให้จังหวัดเหล่านั้นมีส่วนในการตัดสินใจและเตรียมตัวด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสั่งระบายน้ำจากจังหวัดหนึ่งไปท่วมอีกจังหวัด รวมทั้งปัญหาบางจังหวัดสั่งกั้นน้ำไม่ให้จังหวัดตัวเองท่วม อีกจังหวัดเลยเจอปัญหาน้ำท่วมขัง หาที่ระบายไม่ได้
การให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมก็เช่นกัน ราชการบางหน่วยงานยังคงปิดกั้นไม่ยอมรับการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งที่เป็นคนในพื้นที่รู้ปัญหาดีกว่าราชการซะอีก
...
นี่คงเป็นปัญหาที่ สทนช.ต้องเข้ามาสางปมกันต่อไป...เพราะบ้านเมืองนี้ มีปัญหาเช่นนี้นี่แหละ สทนช.เลยถือกำเนิดขึ้นมา.
สะ–เล–เต