ครูชินกร พิมพิลา ผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้นักเรียน สอบได้ที่ 1 ยกชั้น 17 คน เผยแนวคิดไม่ยุ่งยาก เพราะนักเรียนมีความสามารถไม่เหมือนกัน ถือเป็นการให้กำลังใจเด็กให้มีความหวัง และผู้ปกครองก็ดีใจที่บุตรหลานเรียนดี

สืบเนื่องจากกรณีโลกโซเชียลกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก แต่ส่วนใหญ่รู้สึกชื่นชมถึงแนวคิด และความกล้าหาญของ คุณครูชินกร พิมพิลา หรือ ครูติ๊ก ครูโรงเรียนบ้านนาสีนวล ต.หนองแปน อ.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สกลนคร เขต 2 (สพป.สกลนคร เขต 2) ที่สร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในวงการการศึกษาไทย นั่นคือให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้ลำดับการสอบที่ 1 ยกชั้นทั้ง 17 คน โดย โรงเรียนบ้านนาสีนวล เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 632 คน ครู 40 คน ปัจจุบันมี นายศุภวุฒิ พิมกันรีย์ เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งผู้บริหารท่านนี้ก็ไม่ห้าม แต่เปิดโอกาสให้อิสระแก่บุคลากร ใช้ความรู้ความสามารถ สรรหาวิธีการเรียนการสอนที่ไม่ขัดต่อกฎระเบียบ คุณธรรม และจริยธรรม มาสอนนักเรียน

...

ความคืบหน้าของเรื่องนี้ วันที่ 2 เมษายน 2561 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ บ้านนาสีนวล ต.หนองแปน อ.เจริญศิลป์ เพื่อสอบถาม คุณครูชินกร พิมพิลา ถึงแนวคิดในการตัดสินใจให้นักเรียนสอบได้ที่ 1 ยกชั้น ซึ่งได้รับคำตอบว่า นักเรียนเหล่านั้นมีความพิเศษเฉพาะด้าน ทุกคนมีความสามารถ และความเก่งแตกต่างกัน จนกระทั่งปิดภาคเรียน ก็มีการตัดสินผลการเรียน ซึ่งก็มีเกรดธรรมดาเรียนเหมือนกันกับที่อื่น มีการสอบโอเน็ตเหมือนกัน การสอบทุกครั้งจะมีการจัดลำดับที่ ทีนี้เรามองไปที่เด็กอยู่รั้งท้ายเพื่อน ตั้งแต่อนุบาลจนถึง ป.6 ก็ยังรั้งท้ายอยู่ ก็มีความคิดว่าน่าจะสร้างแรงบันดาลใจ หรือการเสริมแรงเชิงบวกให้กับเขา จึงคิดวิธีการนี้ออกมา และให้ที่ 1 ทุกคน ซึ่งคำว่าที่ 1 ต้องมีความเก่งเฉพาะด้าน เช่น หาปลาเก่ง ร้องเพลงเก่ง นวดเท้าเก่ง เก่งด้านช่างไม้ หรือสร้างเครื่องบินเก่งที่สุด ซึ่งตนมีความเชื่อว่า เด็กที่อ่านหนังสือไม่คล่อง เขียนหนังสือไม่ได้ คนเหล่านั้นสมองของเขายังไม่ฟักตัวในจุดๆ นั้นออกมา

"แต่ในขณะเดียวกันเขากลับมีความเด่นด้านอื่น เราต้องรอเวลา อย่าเพิ่งไปบีบบังคับเขา แต่เรามีวิธีการ คือ การสอนเสริมให้มีพัฒนาการเพิ่มขึ้น วันปิดภาคเรียนก็ถ่ายภาพร่วมกับนักเรียนแล้วแชร์ออกไป ไม่ได้คิดอะไรเพราะเป็นเรื่องปกติของการทำงานที่ตนทำอยู่แล้ว วันต่อมาเป็นวันประกาศผล ตนก็ทำใส่ซองไว้ให้ข้างในเป็นผลการเรียน เมื่อนักเรียนเปิดดูก็งง ทำไมตนเองถึงสอบได้ที่ 1 และผู้ปกครองก็ยิ้มเพราะบุตรหลานเป็นคนเรียนเก่ง เช่นเดียวกับ คนที่เคยสอบได้รั้งท้าย วันนี้เขาได้เห็นผลการเรียนแล้วเขาก็ดีใจ เขาอาจจะไม่เก่งอย่างอื่น แต่เขาเก่งช่างไม้ เพราะไปประกวดด้านช่างไม้ก็ชนะเลิศมา การจัดลำดับนั้นไม่ได้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจของเด็ก กลับเป็นการบั่นทอนความกระตือรือร้นของเด็ก คล้ายๆ การสร้างกำแพงให้กับเด็ก คนที่สอนเพื่อน ก็อาจจะมาเป็นครูเหมือนกับที่ตนเคยสอนเพื่อน แล้วกลับมาเป็นครูที่หมู่บ้านของตน ตามคำพูดที่ว่า 'ฮักบ้านเกิด' อยากให้เด็กๆ มีความฝัน นอกจากตนแล้ว ยังมีครูที่ทำแบบตนมาก่อน แต่สังคมยังไม่รับรู้"