แม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมบิ๊กทหาร ลงพื้นที่หาแนวทางพัฒนาปรับปรุงอ่างเก็บน้ำลำพะยัง อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ อันเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ราษฎรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ...



เมื่อวันที่ 2 ก.พ.61 ที่ห้องประชุมอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ พล.ท.ธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน โดยได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปการพัฒนาตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน โครงการฝายลำพะยังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และได้เข้าเยี่ยมชมอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ โดยมี พล.ต.ผดุงเกียรติ โปร่งจิตต์ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 3 นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.รมน.กาฬสินธุ์ พ.อ.สมบัติ จินดาศรี ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 6 นายอนันต์ศักดิ์ แย้มชื่น ผอ. โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายอำเภอเขาวง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนให้การต้อนรับ


นายอนันต์ศักดิ์ แย้มชื่น ผอ.โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรประมาณ 4,600 ไร่ โดยมีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการจำนวน 507 ครัวเรือน มีผลผลิตข้าวนาปีประมาณ 546 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เดิมเฉลี่ย 273 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการฯ เฉลี่ย 40 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากเดิม 22.41 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นรายได้เฉลี่ย 70,905 บาทต่อไร่ต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น  44,197 บาทต่อไร่ต่อครัวเรือน


...

ด้าน พล.ท.ธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือเป็นโครงการที่พิเศษ ที่มีการผสมผสานและบูรณาการระหว่าง จ.กาฬสินธุ์กับ จ.มุกดาหาร ทั้งเรื่องการวางระบบน้ำ ผันน้ำทางท่อทางอุโมงค์ใต้ภูเขา มีแรงโน้มถ่วงบังคับน้ำลงสระต่างๆ ให้ประชาชนได้ใช้น้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ซึ่งทางจังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาและปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและได้รับประโยชน์จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อไป


สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนนั้น เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ และได้ทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศลำพะยัง ที่บ้านกุดตอแก่น ทรงทอดพระเนตรเห็นชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากินของราษฎรที่แร้นแค้นและยากลำบาก เพราะพื้นที่นี้ไม่มีระบบชลประทาน และได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน


ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ พร้อมก่อสร้างระบบส่งน้ำสู่ไร่นาของเกษตรกร เพื่อผันน้ำบางส่วนจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร สนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกในเขต อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ได้มากขึ้น ทั้งนี้อุโมงค์ผันน้ำสู่ลุ่มน้ำลำพะยัง เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2546 เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2551 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร จากฝั่ง จ.มุกดาหาร ลอดใต้ภูเขาภูบักดี มายังฝั่ง จ.กาฬสินธุ์รวมระยะทางประมาณ 710 เมตร


โดยพื้นที่ลุ่มน้ำฝั่ง จ.กาฬสินธุ์ มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 12,000 ไร่ ของ ต.สงเปลือย อ.เขาวง ซึ่งเกษตรกรสามารถนำน้ำจากระบบผันน้ำลงมาเติมในสระของตนสำหรับทำการเพาะปลูกพืชเพื่อเพิ่มผลผลิต และปรับพื้นที่เกษตรกรรมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นการปลูกพืชได้หลากหลาย เพื่อให้เกษตรกรมีอาหารบริโภคอย่างพอเพียง นำไปสู่ความมีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน


จากนั้นสำนักงาน กปร. มีหนังสือขอให้สำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานชื่ออุโมงค์ผันน้ำโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เพื่อเป็นสิริมงคล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "ลำพะยังภูมิพัฒน์" ซึ่ง "ลำพะยัง" คือ ชื่อโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ "ภูมิ" หมายถึงแผ่นดิน และ "พัฒน์" คือ ความเจริญก้าวหน้าพัฒนา รวมหมายถึง อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง ซึ่งชื่อพระราชทานนี้สร้างความปลื้มปีติเป็นล้นพ้นแก่พสกนิกรชาวกาฬสินธุ์เป็นอย่างยิ่ง.

...