วิทยาศาสตร์ล้วนๆ เจาะสาเหตุเกาะลอยน้ำคำชะโนด ไฉนถึงจมบาดาล อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตั้ง 2 สมมติฐาน เกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่มาจากสิ่งก่อสร้าง หรือต้นคำชะโนดฝังลากติดพื้นดิน ทำให้เกาะที่เคยลอยน้ำไม่ลอย แต่เชื่อมาจากสาเหตุแรกมากกว่า...
จากกรณี หลังจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคอีสาน ทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วม รวมไปถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่ง “คำชะโนด” จ.อุดรธานี ซึ่งเหตุดังกล่าวสร้างความแปลกใจแก่ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก คำชะโนด เป็น “เกาะลอยน้ำ” ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้เข้าพบปู่เขียว ซึ่งเป็นเจ้าพิธีเจ้าปู่ศรีสุทโธ แห่งป่าคำชะโนด โดยปู่ศรีสุทโธบอกผ่านกับร่างทรงว่า สาเหตุที่น้ำท่วมคำชะโนดนั้นเป็นเพราะองค์ปู่ศรีสุทโธต้องการให้เป็น เพราะพวกมนุษย์ที่นำมาด้วยกิเลส เพราะดินแดนคำชะโนดนั้นเป็นดินแดนแห่งการบำเพ็ญธรรมของพญานาค
...
อย่างไรก็ตาม ในทางวิทยาศาสตร์นั้น ก็มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ทำไม “เกาะลอยน้ำ” ถึงน้ำท่วมได้!? ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขอความรู้จาก นายสัมฤทธิ์ ชุษณะทัศน์ อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่เคยศึกษาในเรื่องนี้ กล่าวว่า เมื่อก่อนพื้นที่ดังกล่าวเป็น “สนุ่น” หรือพืชพันธุ์น้ำ ส่วนต้นคำชะโนด นั้นก็เป็นพืชตระกูลปาล์ม จากนั้นก็ไปเกิดขึ้นเกาะกันไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น “เกาะลอยน้ำ”
คำถามคือ ในเมื่อเป็นเกาะลอยน้ำ แล้วน้ำท่วมได้อย่างไร นายสัมฤทธิ์ ตั้งสมมติฐานดังนี้
1. สิ่งก่อสร้างที่เริ่มเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้เกาะที่เคยลอยน้ำมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น จากที่เคยลอยน้ำ ก็กดลงติดพื้นดิน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด
2. ธรรมชาติของต้นคำชะโนด วันหนึ่งมันก็จะทำรากลงไปสู่เบื้องล่าง จากนั้นมันก็ฝังลากลงไปยังพื้นดิน เกาะที่เคยลอยน้ำก็ไม่ได้ลอยเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น เมื่อมีภัยธรรมชาติมาก็เกิดน้ำท่วม ซึ่งโอกาสของสมมติฐานข้อนี้เป็นไปได้น้อย เนื่องจากเกาะมีการขยับตัวอยู่ตลอด
อย่างไรก็ตาม จากที่เคยสำรวจเส้นทางธรรมชาติในคำชะโนด ก็สามารถอธิบายได้ทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีเรื่องผิดปกติแต่ประการใด แต่แบบนี้เขาเรียกว่า “บึงสนุ่น”