กรมทางหลวงลงพื้นที่น้ำท่วมสกลนคร ตรวจความเสียหาย ระดมเจ้าหน้าที่เร่งช่วยประชาชน เคาะงบ 2 พันล้าน ฟื้นฟูความเสียหายเส้นทางอีสานรับผลกระทบ ทั้งระยะสั้น-ยาว
วันที่ 1 ส.ค. 60 นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผย ภายหลังลงพื้นที่ตรวจความเสียหายของทางหลวงจากอิทธิพลของพายุเซินกา พื้นที่จังหวัดสกลนคร ว่า หลังจากที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสกลนครที่ผ่านมา ได้สั่งการให้สำนักงานทางหลวงที่ 3 (สกลนคร) แขวงทางหลวงสกลนครที่ 1, แขวงทางหลวงนครพนม และแขวงทางหลวงบึงกาฬ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ในเบื้องต้นโดยด่วนก่อน
รวมทั้งนำรถบรรทุกขนย้ายประชาชนและยานพาหนะในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ทำความสะอาดโรงเรียนเมืองสกลนคร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร หลังน้ำลด ทำความสะอาดสำนักงานขนส่งจังหวัดสกลนคร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร รวมถึงบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ กรมทางหลวง ยังได้นำเครื่องจักรพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการ เร่งระบายน้ำออกจากท่าอากาศยาน ให้สามารถเปิดบริการเที่ยวบินได้ภายในวันนี้ โดยใช้รถแบ็กโฮ จำนวน 5 คัน ขุดด้านหัวท่าอากาศยานซึ่งมีพื้นที่สูงให้เป็นรางระบายน้ำขนาดสามเมตรให้ลึกมากที่สุด พอน้ำลดระดับขุดให้ลึกเพิ่มอีกเพื่อให้น้ำระบายออกสู่หนองหารได้เร็วขึ้น ใช้หน่วย Falling Weight Deflectometer (FWD) จากสำนักวิเคราห์และตรวจสอบ
กรมทางหลวง เข้าทดสอบพื้นรันเวย์สนามบิน เพื่อทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้างทางด้วยน้ำหนักตกกระแทก แล้วตรวจวัดการแอ่นตัวของผิวทาง ในการทดสอบนี้ใช้แรงกระทำ เทียบเท่าแรงดันล้อเครื่องบินที่ใช้งานสนามบิน ทดสอบทุกระยะ 50 เมตร ผลการทดสอบค่าการแอ่นตัวของผิวทางเมื่อรับน้ำหนักตกกระแทก แสดงว่าทางวิ่งและทางขับของสนามบินสกลนคร มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับการขึ้นลงของเครื่องบินได้อย่างปลอดภัย รวมถึงนำเครื่องจักรเร่งปฏิบัติการซ่อมแซมถนนทางเข้าท่าอากาศยานสกลนคร
...
นายธานินทร์ เผยต่อว่า การดำเนินงานในครั้งนี้ กรมทางหลวงได้ระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักร ประกอบด้วยรถบรรทุกน้ำ รถเครน รถบรรทุกน้ำ รถแบ็กโฮ รถปูยาง รถบรรทุกสิบล้อ รถปิกอัพ จากแขวงทางหลวงใกล้เคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมทั้งสิ้น 37 คัน เจ้าหน้าที่ 134 คน โดยหลังจากนี้จะประเมินผลความเสียหายของถนนตั้งแผนและซ่อมแซมต่อไป สำหรับในพื้นที่อื่นที่คาดว่าจะได้รับมวลน้ำจากจังหวัดสกลนคร เช่น จังหวัดนครพนม จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา
สำหรับผลกระทบ ที่เกิดขึ้นจากพายุเซินกา ล่าสุด กรมทางหลวงได้สรุปประเภทความเสียหายไว้ 4 ประเภท คือ 1. สะพานขาด สะพานชำรุด 9 แผนงาน ใช้วงเงินกว่า 104,999,000 บาท 2. ดินสไลด์ คันทางสไลด์ 22 แผนงาน ใช้วงเงิน 265,085,000 บาท 3. อาคารระบายน้ำชำรุดเสียหาย 72 แผนงาน ใช้วงเงิน 844,295,000 บาท 4. โครงสร้างถนนชำรุด 57 แผนงาน ใช้วงเงิน 913,699,000 บาท รวมทั้งสิน 160 แผนงาน งบประมาณ 2,128,078,000 บาท โดยแบ่งเป็นแผนระยะสั้นและระยะกลาง ระยะสั้น ได้แก่ ลักษณะงานแก้ไขน้ำท่วมในระยะสั้น งานซ่อมแซมเพื่อให้จราจรผ่านได้
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น หลังเกิดน้ำท่วมได้จัดหาทางเลี่ยง หรือทอดสะพานเบลีย์ งานระยะกลาง ได้แก่ งานที่บูรณะฟื้นฟูให้คืนสู่สภาพเดิม พร้อมทั้งทำการป้องกันโครงสร้างส่วนต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายลักษณะเดิมอีกในอนาคต
ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการสอบถามสภาพเส้นทางการจราจรบนถนนทางหลวงในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัย ต้องการความช่วยเหลือ หรือพบเหตุบนทางหลวง เช่น ต้นไม้ล้ม ทางขาด สามารถแจ้งได้ สายด่วนกรมทางหลวง 1586 ทุกวันฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง