เครดิตภาพ กลุ่มรักษ์เชียงของ

กสม.นักวิชาการ ประชาชนริมแม่น้ำโขงเหนือเขื่อนปากแบง ยังวิตกกังวลหลังกรมทรัพยากรน้ำ ชี้แจงไม่ชัดเจน ทั้งเอกสารรายงาน EIA แผนจัดการสิ่งแวดล้อม จีนก็สำรวจจะระเบิดร่องน้ำเดินเรือ ขณะที่ชาวบ้านหวั่นกระทบวิถีชีวิต...

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.60 นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อนุกรรมการสิทธิด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ได้นำสื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ จ.เชียงราย ร่วมกันล่องเรือสำรวจแม่น้ำโขงจาก อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ถึงเมืองปากแบง แขวงอุดมไชย สปป.ลาว ซึ่งกำลังมีโครงการสร้างเขื่อนปากแบง โดยมีบริษัทต้าถัง อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ของจีน ที่เป็นผู้ได้รับสัมปทานก่อสร้างจาก สปป.ลาว ขณะเดียวกันแม่น้ำโขงในช่วงตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จนถึงหลวงพระบางยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ในโครงการสำรวจระเบิดแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือขนาดใหญ่

อนุกรรมการสิทธิด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กสม.กล่าวว่า จากการตั้งข้อสังเกตกรณีการชี้แจงให้ผู้เกี่ยวข้องให้ผู้ที่อาศัยเหนือเขื่อนปากแบงเมื่อไม่นานมานี้ ณ ที่ว่าการอำเภอเวียงแก่น จ.เชียงราย มีการนำเสนอข้อมูลของกรมทรัพยากรน้ำที่แปลออกมานั้นไม่ครบถ้วน ขาดเอกสารหลายอย่าง เช่น โครงสร้างเขื่อน เรื่องข้อมูลระดับน้ำ แผนหรือมาตรการลดผลกระทบภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำให้กังวลว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างเหมือนเขื่อนไซยะบุรี ที่เขียนในเอกสารอย่างหนึ่ง พอลงมือทำก็อีกอย่าง และอาจจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลอีกหลายส่วนภายหลัง เนื่องจากพบว่าหลายเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้นทางผู้ดำเนินการไม่มีการบรรจุความเห็นและการคัดค้านของชาวบ้านไว้เลย ส่วนกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ร่วมกัน 6 ประเทศ ทั้งที่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ก็พูดถึงเทคนิคอย่างเดียว และไม่ว่าชาวบ้านฝั่งไทยจะค้านอย่างไร คิดว่าถ้าหน่วยงานภาครัฐไม่ออกตัวพูดถึงข้อกังวลในระดับประเทศ ทางการลาวก็เดินหน้าสร้างอยู่ดี สรุปปัจจุบันนี้คือชาวบ้านกังวลและตั้งคำถามไปด้านเดียว ไม่เคยได้รับคำตอบจากอีกฝ่าย

...

นายหาญณรงค์ กล่าวอีกว่า เรื่องรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านอื่นๆ อย่างรายได้หลักที่มาจากการท่องเที่ยว เอาง่ายๆ แค่รายงานจำนวนนักท่องเที่ยวจากแขวงบ่อแก้ว ถึงหลวงพระบาง เส้นทางแค่นี้ที่คนสัญจรไปมา ใครบ้างสามารถบอกได้ว่า จำนวนเรือท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวเท่าไหร่บ้าง ดังนั้นแบบรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต้องมีความชัดเจนและให้ข้อมูลรอบด้าน ดังนั้นจึงเสนอว่าให้มีการจัดการในภาพรวม ทั้งในเรื่องกระบวนการรับฟังความคิดเห็นมาตรการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น แนวทางการบริหารเขื่อน เงื่อนไขเวลาเปิดปิด หากมีผลกระทบตามมาภายหลังให้ชัดเจนกว่านี้

ด้าน ดร.สมนึก จงมีวศิน อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กล่าวว่า จากการศึกษารายงานเกี่ยวกับเขื่อนปากแบงและลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจากชาวบ้านที่อาจจะได้รับผลกระทบ ตั้งข้อสังเกตว่า วัตถุประสงค์ของโครงการขัดแย้งกับข้อเท็จจริงหลายประการ อย่างกรณีที่บอกว่าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น เช่น มีถนน มีไฟฟ้า นั้นก็ไม่ใช่ เพราะถนนเกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่โครงการเองเท่านั้น ส่วนเรื่องไฟก็ได้ประโยชน์แค่ส่วนคนที่อยู่หน้าเขื่อนเท่านั้น อีกอย่างเรื่องการที่ผู้ดำเนินการระบุว่าจะมีเม็ดเงินรายได้ที่มาจากโครงการนั้นก็ไม่ได้เป็นจำนวนมากมายมหาศาล เพราะกำลังไฟแค่ 800 เมกะวัตต์ อีกทั้งมีผลกระทบตามมามากมาย

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกล่าวต่อว่า เรื่องแนวทางการสร้าง Ship Lock หรือทางเรือผ่าน ที่ระบุมาในรายงานนั้นบอกว่า มี 2 Ship Lock ความยาว 120 เมตร กว้าง 12 เมตร ลึก 4 เมตร นั้นไม่ได้บอกชัดว่า สุดท้ายแล้วเรือผ่านได้กี่ลำ ถ้าผ่านได้ทีละลำจะต้องเสียเวลาต่อคิวเข้า-ออก ไม่รู้ว่าจะมีอุปสรรคตามมาอย่างไรบ้าง แล้วจะต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น ค่าขนส่งสินค้า ค่าผ่าน ship lock

"ที่ผมสังเกตชัดอีกด้าน คือ เรื่องเอกสารหลายอย่างที่ไม่พบในรายงาน เช่น เอกสารผลกระทบข้ามพรมแดน เอกสารรายละเอียด EIA, แผนการจัดการสิ่งแวดล้อม, จำนวนประชากร จำนวนหมู่บ้านการย้าย, เอกสารผลกระทบจากเขื่อนโดยตรง ขนาดว่าเราพยายามศึกษามาแล้วยังไม่เจอเลย แล้วชาวบ้านจะไปตามข้อมูลพวกนี้ได้อย่างไร กระบวนการดำเนินงานของโครงการเขื่อนปากแบงนั้นขัดต่อข้อตกลงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ข้อที่ว่า การคุ้มครองสภาพแวดล้อมและความสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาฯ นั้นไม่มีจริง เอกสารประกอบไม่เพียงพอ แล้วจะทำกระบวนการ PNPCA ไปทำไม ทำเพื่ออะไร" ดร.สมนึก กล่าว

ส่วน นายทองสุข อินทะวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น กล่าวด้วยว่า จากการร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกับกรมทรัพยากรน้ำต่อเรื่องการสร้างเขื่อนปากแบงมาเมื่อไม่นานมานี้ ยังไม่รู้เลยว่าระดับการกักเก็บน้ำของเขื่อนอยู่ที่ระดับไหน มีข้อมูลอีกมากมายที่ชาวบ้านไม่รู้ อีกตัวอย่างคือเรื่องบันไดปลา ที่ทางผู้ดำเนินการบอกว่า สร้างให้ปลาสามารถผ่านไปได้ ตามความรู้ในฐานะเคยทำประมงนั้นน้ำเชี่ยวในแม่น้ำโขงจะสร้างทางปลาผ่านอย่างไร ตนเคยได้คุยกับ ปชช.ชาวลาว ได้เผยให้ฟังถึงเรื่องถูกย้ายหมู่บ้านหลายชุมชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขงมีอาชีพหาปลาเลี้ยงตนเองและครอบครัว จะเกิดปัญหาด้านอื่นตามมา เช่น ต้องไปรับจ้างต่างบ้านต่างเมืองจะทำอย่างไร เพราะอาชีพที่เคยทำได้รับผลกระทบ จะเกิดปัญหาแรงงานข้ามแดนตามมา.

...