"เจ้าคุณธรรวัตร" รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน เป็นประธานพิธีบวงสรวงฤกษ์และเทวดาอารักษ์ครูช่าง เพื่อเริ่มสร้างเสาหงส์และตุงหลวง วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ทดแทนของโบราณ เพื่อเป็นพุทธบูชา

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 (ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4) เวลา 09.49 น. พระราชนันทวัชรบัณฑิต, รศ.ดร. รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง เป็นประธานพิธีบวงสรวงฤกษ์และเทวดาอารักษ์ครูช่าง (พระวิษณุกรรม) เพื่อเริ่มสร้างเสาหงส์และตุงหลวง วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง อ.ภูเพียง จ.น่าน โดยมีคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนร่วมประกอบพิธี

พระราชนันทวัชรบัณฑิต, รศ.ดร. เผยว่า คณะสงฆ์จังหวัดน่าน และวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ได้มีดำริในการสร้างเสาหงส์และตุงหลวงขึ้นมาทดแทนของโบราณที่สูญสลายหายไป ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์จากโยม ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ และโยมสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย คนที่ 40 บริจาคเงินการสร้างเสาหงส์และตุง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเป็นแหล่งเรียนรู้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวผู้เดินทางมาเยือนเมืองน่าน

...

วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง เป็นที่ประดิษฐานองค์พระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง อันเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของเมืองน่าน เป็นที่เคารพนับถือสักการะบูชาของพระพุทธศาสนิกชนมาแต่โบราณ และยังมีปูชนียสถานที่สำคัญ เช่น พระวิหารหลวง พระเจ้าอุ่นเมือง พระเจ้าล้านทอง วิหารพระนอน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เจ้าผู้ครองนครน่าน และสาธุชนบรรพบุรุษในอดีต ได้สร้างเป็นอนุสรณ์แสดงความศรัทธาปสาทะต่อพระพุทธศาสนา และองค์พระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง และยังแสดงถึงคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรม อันเป็นมรดกที่ทรงคุณค่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบทอดให้เป็นสมบัติของชาติต่อไป

พระราชนันทวัชรบัณฑิต, รศ.ดร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตุงเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องหมายของบุญกุศล ที่พุทธศาสนิกชนชาวล้านนานิยมสร้างถวายเป็นพุทธบูชา มีหลายขนาดและหลายรูปแบบ

โดยตุงประเภทหนึ่งที่เป็นของหาได้ยาก และมักจะพบในวัดหรือศาสนสถานที่สำคัญ คือ "ตุงหลวง" ซึ่งทำจากวัสดุที่มีค่า และมีขนาดใหญ่ มักจะทำคู่กันกับเสาหงส์ ตั้งประดับถวายเป็นพุทธบูชาหน้าศาสนสถาน ซึ่งจากหลักฐานภาพถ่ายโบราณ ปรากฏตุงหลวงเสาหงส์ จำนวน 1 คู่ หน้าทางขึ้นวัดพระธาตุแช่แห้ง บริเวณด้านท้ายขดหางพญานาคราช มีลักษณะเป็นเสาสูง ด้านบนประดับด้วยหงส์และฉัตร เป็นสัญลักษณ์แสดงคุณค่าต่อความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวล้านนา ที่มีต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง.