"โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์" พร้อมก้าวสู่ "Medical & Wellness Hub" ยกระดับสาธารณสุข สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ "รมว.สาธารณสุข" ชมพื้นที่ปลอดโปร่ง-ทันสมัย พร้อมฝากบุคลากรช่วยขับเคลื่อนนโยบาย สธ.

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 6 มี.ค. 2568 ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ (เขาเขียว) จ.นครสวรรค์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมมอบนโยบาย และรับฟังการพัฒนาระบบบริการด้วยเทคโนโลยีของโรงพยาบาลฯ โดยมี ผู้บริหารเขตสุขภาพที่ 3 ผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ แพทย์หญิงรจนา ขอนทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 3 แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ และอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ

โดย นายสมศักดิ์ กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า สำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาระบบ Telemedicine/AI ทางการแพทย์ และการใช้เทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตนขอชื่นชมโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ที่ออกแบบโครงสร้างอาคารได้ปลอดโปร่ง และมีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โต รวมทั้งมีระบบให้บริการทันสมัย นอกจากนี้ ผู้อำนวยการฯ ยังมีแผนปลูกต้นไม้ภายในโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และเตรียมสร้างสนามกีฬาให้บุคลากร สำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายหลังการทำงานด้วย

“สุดท้ายนี้ ผมต้องขอชื่นชมคณะผู้บริหาร และบุคลากรโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ทุกท่าน รวมทั้งบุคลากรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทุกคน ที่มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาโรงพยาบาล เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขไปสู่การปฏิบัติ และต้องขอฝากให้พวกเราช่วยกัน ยกระดับการบริการด้านสุขภาพให้ครอบคลุมทั่วถึงประชาชนต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว

...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ นายสมศักดิ์ จะกล่าวมอบนโยบายในการลงพื้นที่ครั้งนี้ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ได้มอบหมายให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวสรุปภาพรวมการทำงานของระบบจ่ายยาอัตโนมัติ ว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ได้นำระบบจัดยาอัตโนมัติมาใช้ เพื่อลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน จัดรูปแบบการทำงาน วางผังการปฏิบัติงานของบุคลากรภายในห้องยาให้เป็นระบบ และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ส่วนประโยชน์ที่ได้รับนั้น จะช่วยลดระยะเวลาการรอคอยเฉลี่ยลงเหลือ 15 นาทีต่อใบสั่งยา รวมทั้งลดความคลาดเคลื่อนก่อนการจ่ายยา ลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน และลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลงร้อยละ 30

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแพร่นโยบายเพิ่มศักยภาพ และเป้าหมายในอนาคตของโรงพยาบาลฯ 3 บูธ ได้แก่ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ เพื่อพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลฯ สู่ Medical & Wellness Hub ให้เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์-สุขภาพมูลค่าสูง ดูแลสุขภาพบุคคล-ความงาม และยกระดับสมุนไพร ยา และอาหารไทย

2.จิตเวชและยาเสพติด เนื่องด้วย จ.นครสวรรค์ ได้กำหนดนโยบาย “คนนครสวรรค์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ด้วยกระบวนการขับเคลื่อนงานโดยการพัฒนาสุขภาพจิต ยาเสพติดแบบครบวงจร ที่จัดให้มีระบบการดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ได้แก่ สุขภาพจิตวัยเรียน สุขภาพจิตวัยรุ่น สุขภาพจิตวัยทำงาน และสุขภาพจิตวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังผลักดันคณะอนุกรรมการประสานงาน เพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิต จังหวัดนครสวรรค์ โดยให้นายอำเภอทุกอำเภอ นำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติในพื้นที่ และกำหนดให้เป็นการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เพื่อทำให้เกิดรูปธรรมโดยใช้กระบวนการบำบัด รักษา และฟื้นฟูตามรูปแบบระดับจังหวัด

และ 3.ระบบเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งพัฒนาระบบ Digital Health ของโรงพยาบาลฯ เพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษา ลดภาระงานของบุคลากร และเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชน เช่น เพิ่มพื้นที่โรงพยาบาล เพิ่มจำนวนอาคาร และเตียงผู้ป่วย ระบบหุ่นยนต์จัดยา ระบบนัดหมายล่วงหน้า ความเสี่ยงทางคลินิก ประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย และเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ฯ