จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมรับพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ระหว่างวันที่ 5-8 มีนาคม 2567 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา
วันที่ 3 มีนาคม 2567 บรรยากาศบริเวณท้องสนามหลวง ประชาชนจำนวนมากทุกเพศทุกวัย มุ่งหน้ามาเพื่อสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุเสริมสิริมงคลแก่ชีวิตในปี 2567 ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด
ในวันนี้ (3 มี.ค.) เป็นวันสุดท้ายที่จะเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะ ณ ท้องสนามหลวง จนถึงเวลา 21.00 น. จากนั้นจะอัญเชิญไปประดิษฐานในส่วนภูมิภาคใน 3 จังหวัด
สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ให้ประชาชนได้เข้าสักการบูชานอกจากกรุงเทพมหานคร ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดกระบี่ ตามลำดับ หลังจากนั้นจะจัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ส่งมอบคืนให้สาธารณรัฐอินเดีย
...
ทางด้าน จ.เชียงใหม่ นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รอง ผวจ.เชียงใหม่ พร้อมทั้ง พล.ต.ต.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ และคณะ ได้เดินทางมาตรวจสถานที่ตามจุดต่างๆ ที่จะต้อนรับพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ตั้งแต่อัญเชิญลงจากเครื่องบิน เดินทางไปยังอุทยานสวนราชพฤกษ์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รวมทั้งบริเวณจุดต่างๆ ที่จะทำพิธี และให้ประชาชนกราบสักการะ จุดที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุบนหอคำหลวง
พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ในวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่บริเวณสวนหลวงราชพฤกษ์ เวลา 17.00 น. จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดริ้วขบวน 17 ริ้วขบวนอัญเชิญ เป็นขบวนเครื่องสักการะล้านนา ขบวนช่างฟ้อนพื้นเมือง ขบวนธงชาติไทย ธงชาติอินเดีย ธงธรรมจักร ธงฉัพพรรณรังสี ขบวนรถบุษบก ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ และขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ มีผู้ร่วมขบวนประมาณ 3,000 คน เคลื่อนจากประตูช้างค้ำมายังหอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ขึ้นสู่มณฑปที่ประดิษฐานบนหอคำหลวง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยวได้ร่วมสักการะ ตั้งแต่วันที่ 5-8 มีนาคม 2567
ทั้งนี้ การสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ณ หอคำหลวง จ.เชียงใหม่ ไม่อนุญาตให้ขึ้นไปที่ห้องประดิษฐานบนหอคำหลวง แต่จะให้กราบที่จัดเตรียมภายนอกอาคารหอคำหลวง และเวียนเทียนรอบหอคำหลวง
สำหรับประชาชน ผู้ที่มากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ แล้ว ทางจิตอาสาพระราชทานจะแจก ธรรมนาวา “วัง” พระราชทานจากรัชกาลที่ 10 จำนวน 1 แสนฉบับ
การแต่งกายเข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ งดเว้นสีดำ สุภาพบุรุษแต่งกายด้วยชุดสุภาพชนสีขาว สีครีม สุภาพสตรี แต่งกายด้วยชุดสุภาพโทนสีขาว สีครีม ใส่กางเกงหรือกระโปรงที่ไม่สั้นเหนือเข่า หรือผ้าถุง
วิธีเข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ทำได้ 2 วิธี วิธีที่ 1 สำหรับพระภิกษุสงฆ์ ศาสนิกชนที่สามารถเดินขึ้นบันไดหอคำหลวงได้ และประสงค์จะเข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ วิธีที่ 2 สำหรับพระภิกษุสงฆ์และศาสนิกชนผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือเด็กเล็กที่ไม่ประสงค์จะขึ้นกราบสักการะองค์พระบรมสารีริกธาตุบนหอคำหลวง ก็สามารถไหว้สักการะรอบๆ หอคำหลวงได้
สิ่งที่ควรนำมาด้วยในการกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ เปิดให้ขึ้นกราบสักการบูชาองค์พระบรมสารีริกธาตุบนหอคำหลวง ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ขอให้เตรียมถุงผ้า ถุงกระดาษสำหรับใส่สัมภาระของใช้ส่วนตัว อาทิ น้ำดื่ม ยารักษาโรคประจำตัวมาด้วย เนื่องจากไม่มีบริการรับฝากสิ่งของ ไม่อนุญาตให้วางสิ่งของบริเวณรอบหอคำหลวง
...
สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จะประดิษฐานที่บริเวณใจกลางบนหอคำหลวง หลังต้นพระบรมโพธิสมภาร โดยจะมีการปรับแต่งสถานที่ประดิษฐานบนหอคำหลวงอย่างเหมาะสมที่สุด
การรับบัตรคิวเข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ จะทำการเปิดรับบัตรคิวรอบเช้า เวลา 08.00 น. จำนวนไม่เกิน 3,000 คน รอบบ่าย เวลา 12.00 น. จำนวนไม่เกิน 3,000 คน ณ บริเวณเต็นท์ลงทะเบียนวงเวียนราชพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
เวลาหยุดพักการเข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ในทุกๆ ช่วงเย็น เวลา 18.00–19.00 น. จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคลให้กับศาสนิกชนที่เข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ซึ่งจะหยุดพัก ไม่อนุญาตให้สักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ บนหอคำหลวง แต่สามารถไหว้สักการะรอบๆ หอคำหลวงได้ และจะปิดการเข้าสักการะในเวลา 21.00 น.
วิธีเดินทางไปอุทยานหลวงราชพฤกษ์ กราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ โดยรถส่วนตัว เส้นทางที่ 1 มาจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามถนนห้วยแก้ว (ทางหลวงหมายเลข 1004) เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนคันคลองชลประทาน (ทางหลวงหมายเลข 121) ไปอำเภอหางดง ประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนราชพฤกษ์ประมาณ 2 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 เดินทางมาจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามถนนเชียงใหม่-หางดง (ทางหลวงหมายเลข 108) แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนราชพฤกษ์ประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงอุทยานหลวงราชพฤกษ์ โดยรถที่มีให้บริการในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งรถสี่ล้อแดง รถสามล้อตุ๊กๆ
พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ในวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2567 เวลา 17.00 น. จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดริ้วขบวนอัญเชิญอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา โดยจัดเป็นขบวนเครื่องสักการะล้านนา ขบวนช่างฟ้อนพื้นเมือง ขบวนธงชาติไทย ธงชาติอินเดีย ธงธรรมจักร ธงฉัพพรรณรังสี ขบวนรถบุษบก ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ ข้าราชการ จิตอาสา ศาสนิกสัมพันธ์ และศาสนิกชน เคลื่อนขบวนจากบริเวณประตูช้างค้ำมายังหอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ขึ้นสู่มณฑปที่ประดิษฐานบนหอคำหลวง
...
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินเดียมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อหลอมรวมพลังศรัทธาของศาสนิกชนชาวไทยทั่วโลก ซึ่งถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพระพุทธศาสนา บริเวณอาคารนิทรรศการ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ โดยแบ่งเป็นส่วนการจัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ การค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองปิปราห์วา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย สังเวชนียสถาน 4 ตำบล การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต วัดสระเกศ และข้อมูลเกี่ยวกับพระธาตุที่นำมาจัดแสดงในประเทศไทยอีกด้วย