สำนักศิลปากรที่ 7 พบ "จารึกประตูท่าแพ" หรือ "จารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพ" ซ่อนอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพมานานเกือบ 40 ปี เตรียมทำประชาพิจารณ์ชาวเชียงใหม่ ร่วมตัดสินใจแนวทางอนุรักษ์
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 66 สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยถึงกรณีที่สังคมให้ความสนใจในการตามหา "จารึกประตูท่าแพ" หรือ "จารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพ" ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มนักวิชาการบางส่วนให้ข้อมูลว่า จารึกดังกล่าวเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ดังนั้น เพื่อทำให้ประเด็นและข้อสงสัยดังกล่าวกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จึงได้ประสานข้อมูลกับภาคส่วนต่างๆ จนทำให้เริ่มพบเบาะแสของจารึกประตูท่าแพ ซึ่งไม่มีผู้ใดพบเห็นเลย ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ
ล่าสุด นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ พร้อมกับผู้แทนจากเทศบาลนครเชียงใหม่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิจิตรศิลป์ และผู้แทนคลังข้อมูลจารึกล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการท้องถิ่น ร่วมกันเปิดประตูห้องที่ซ่อนอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เปิดมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีและเข้าไปทำการสำรวจภายในจนพบว่า "จารึกประตูท่าแพ" หรือ "จารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพ" ยังคงปักยืนตระหง่านซ่อนตัวอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพจนกระทั่งปัจจุบัน นำมาซึ่งความปีติยินดีของทีมผู้ร่วมค้นหาทุกคน
สำหรับ "จารึกประตูท่าแพ" เป็นหนึ่งในจารึกหลักสำคัญที่ฝังอยู่ร่วมกับประตูเมืองมาตั้งแต่อดีต ต่อมาราวช่วงปี พ.ศ. 2529-2530 จารึกหลักนี้ถูกเคลื่อนย้ายในช่วงที่มีการปรับปรุงประตูท่าแพ ให้เป็นแลนด์มาร์กของเมืองเชียงใหม่ หลังจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นจารึกประตูท่าแพอีกเลย ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี จนกระทั่งมีการตามหาจนพบในครั้งนี้
...
ส่วนความสำคัญของจารึกประตูท่าแพ จากการศึกษาของ ศ.ประเสริฐ ณ นคร พบว่า เป็นจารึกอักษรธรรมล้านนา ตารางบรรจุตัวเลข และวงดวงชะตา ข้อความอักษรเมื่อถูกกลับให้ถูกทิศทางแล้ว ถอดความตามส่วนดังนี้ ข้างบนมีข้อความว่า "อินทขีล มังค (ล) โสตถิ" ข้างซ้ายมีข้อความว่า "อินทขีล สิทธิเชยย" ข้างขวามีข้อความว่า "อิน...." และข้างล่างมีข้อความว่า "อินทขีล โสตถิ มังคล" โดยคำสำคัญที่ปรากฏในจารึกหลักดังกล่าวว่า "อินทขีล" เป็นภาษาบาลี แปลว่า เสาเขื่อน เสาหลักเมือง หรือธรณีประตู จึงสรุปนัยสำคัญได้ว่าจารึกหลักนี้มีความสำคัญในฐานะเสาประตูเมือง
นอกจากข้อความข้างต้นแล้ว จารึกประตูท่าแพยังมีความพิเศษ ตรงเทคนิคการทำจารึก ซึ่งแต่เดิมจารึกด้านที่ 1 ไม่มีผู้ใดสามารถอ่านได้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี จนกระทั่งในช่วง พ.ศ. 2529 อ.เรณู วิชาศิลป์ แห่งวิทยาลัยครูเชียงใหม่ (ขณะนั้น) ได้ค้นพบและเสนอว่าเป็นจารึกตัวหนังสือกลับ คล้ายดังเป็นเงาในกระจก จึงสามารถอ่านจารึกประตูท่าแพได้
นอกจากนี้ นายเทอดศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากนี้สำนักศิลปากรที่ 7 จะบูรณาการองค์ความรู้กับนักวิชาการ สถาบันการศึกษา ภาคประชาชน เพื่อสังเคราะห์กลั่นกรองข้อมูลทางวิชาการ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ให้ได้ข้อมูลที่ตกผลึกแล้ว และเป็นที่น่าเชื่อถือในส่วนรวมทั้งหมด รวมทั้งประชาพิจารณ์ กรอบแนวความคิดเพื่อประกอบการตัดสินใจในการติดตั้งที่เดิม หรือโยกย้ายออกมาในที่ที่เหมาะสม
ขณะที่กรมศิลปากรจะจัดส่งนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ฯ นักภาษาโบราณ ปฏิบัติงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อโบราณวัตถุ (หลักจารึกประตูท่าแพ) ได้รับการอนุรักษ์และจัดเก็บและจัดแสดง ได้ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ ความพึงพอใจและความถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี ของชาวล้านนาชาวเชียงใหม่ต่อไป