ประเทศกานา ทุ่มงบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ส่งคนเดินทางมาฝึกการคัดแยกขยะให้เป็นทองคำ ในวิชานวัตกรรมขยะวิทยา กับกลุ่มวงษ์พาณิชย์ จ.พิษณุโลก แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมขยะล้นเมืองอย่างยั่งยืน

เวลา 09.00 น. วันที่ 11 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่า นายภูสิต สมจิตต์ ผวจ.พิษณุโลก เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชนระหว่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และบริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดย ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานบริหารกลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป มีแขกผู้มีเกียรติและผู้เข้ารับการอบรมร่วมเป็นสักขีพยาน ที่โรงแรมวังจันทน์ริเวอร์วิว อ.เมืองพิษณุโลก

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานบริหารกลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป กล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลกานา กระทรวงสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมและการจัดการน้ำเสีย ได้ค้นหาจากแคตตาล็อก ของสหประชาชาติ พบว่า จ.พิษณุโลก มีโรงเรียนสอนวิชานวัตกรรมขยะวิทยา จึงส่งคณะผู้แทนของรัฐบาลกาน่ากับหน่วยงานของบริษัท จ๊อดพงษ์กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานการเก็บขยะทั้งกานาและแอฟริกา เดินทางมาที่พิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองโมเดลใช้ประโยชน์จากขยะ ที่มีการสร้างสังคม BCG การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน นโยบาย Circular economy การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนจากขยะ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับวิชานวัตกรรมขยะวิทยาเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ.2000 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 23 ปี มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมผ่านไปแล้วกว่า 12,000 คน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

...

“กระทรวงสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ประเทศกานา กลุ่มบริษัท Jospong Group และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ ได้ส่งผู้เรียนมา 30 คน เพื่อต้องการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์แก้ปัญหามลพิษให้กับประเทศกานาด้านขยะและสิ่งแวดล้อมของประเทศ เพราะปัญหาประเทศของเขาแม่น้ำลำคลองกลายเป็นเมืองมีขยะลอยน้ำสูง 2 เมตร สามารถเดินข้ามได้ พร้อมกับข้างถนนพื้นที่ 1,000 ไร่ เต็มไปด้วยขยะมากมายกองเป็นภูเขา มีกลิ่นควันไฟคละคลุ้งเกิดภัยอันตราย โดยใช้งบประมาณในการเรียนรู้ประมาณ 10 ล้านบาท ที่ทุ่มเทมา จ.พิษณุโลก การฝึกอบรมนานาชาติหลักสูตร 12 วัน วิชานวัตกรรมขยะวิทยา หัวข้อ Urban mining business with recycling ที่จัดโดย บริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน”

ดร.สมไทย กล่าวต่อว่า หลักสูตรการอบรมประกอบด้วย ยุทธการเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร เน้นการใช้ประโยชน์จากขยะ หลักการ Phitsanulok the city of recycling, การสร้างสังคม BCG, การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนจากขยะกับการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของชาติ circular economy ความรับผิดชอบของผู้ผลิต Exiended Producer Responsibiliy (EPR) และการออกแบบอีไคดีไซน์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วันนี้เป็นพิธีมอบ certificate ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม และลงนาม MOU ระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กับ บริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ รวมทั้งการร่วมเป็นที่ปรึกษา แก้ปัญหา ด้านขยะ และสิ่งแวดล้อม ให้กับหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชน


ด้าน ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่เน้นการลดปริมาณของเหลือทิ้งโดยการนำกลับมาใช้ใหม่และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเฉพาะวัสดุรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่เกิดเป็นวัตถุดิบรอบสองที่มีคุณภาพในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น ความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่าง วว. และบริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลงานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และประสบการณ์ด้านการคัดแยกและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะเพื่อสร้างโอกาสในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างอาชีพ ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน วว. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมขับเคลื่อนเชิงบูรณาการของทั้ง 5 หน่วยงานในครั้งนี้ โดยจะนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ บุคลากร มาช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน.