ผู้เสียหายกู้ ธ.ก.ส. สร้างบ้านที่ ต.ป่าแดด เชียงใหม่ ถูกผู้รับเหมารายเดิมทิ้งงานรอบสองกว่า 40 ราย จ่ายไปเกือบ 2 ล้าน ได้มองแค่บ้านร้างมาเกือบ 3 ปี ธ.ก.ส.ส่งผู้บริหารเยียวยาปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนผลสอบทุจริตปล่อยเงินกู้ ยังสอบไม่เสร็จ

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 นางสาวรจน์สรัล อินทร์คำน้อย เจ้าของบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านวังสิงห์คำ ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ พาทีมข่าวเข้าไปดูสภาพบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ไม่มีทั้งไฟฟ้า ไม่มีหน้าต่าง ภายในบ้านยังไม่เก็บงาน บางจุดปลวกเริ่มขึ้น โดยบอกว่า ถูกผู้รับเหมาทิ้งงานไปตั้งแต่เดือนมิถุยายน 2565 ทั้งที่ได้จ่ายเงินไปให้แล้วกว่า 1,940,000 บาท

นางสาวรจน์สรัล กล่าวว่า บ้านหลังนี้เป็นหนึ่งในหลายสิบหลังหลังที่กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ สาขาแม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ มาซื้อที่ดินและสร้างบ้าน แต่สุดท้ายถูกผู้รับเหมารายเดียวกันทิ้งงาน กลายเป็นบ้านร้าง บางหลังมีแต่เสา โดยผู้รับเหมาอ้างว่าไม่ได้รับเงินงวดที่เหลือจากธนาคารฯ ทำให้ไม่มีเงินทุนไปต่อ จนทำให้กลุ่มผู้เสียหายรวมตัวกันร้องเรียนกับสื่อมวลชน และเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้รับเหมารายนี้เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564

...

หลังจากสื่อมวลชนรายงานข่าวนี้ ทำให้ ธ.ก.ส.ยอมรับว่ามีความผิดปกติในการอนุมัติสินเชื่อ จนทำให้ต้องระงับการจ่ายเงินงวดที่เหลือให้กับผู้กู้หลายราย เพื่อตรวจสอบความถูกต้องในกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ ก่อนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาและอนุมัติเงินกู้ที่เหลืออยู่ให้เป็นกรณีเฉพาะราย

นางสาวรจน์สรัล บอกว่า เธอยอมเสียค่าประกันชีวิตพร้อมดอกเบี้ยเงินกู้ก้อนแรกให้กับธนาคารรวมเป็นเงินเกือบ 5 หมื่นบาท เพื่อแลกกับการอนุมัติจ่ายเงินที่เหลือตามเงื่อนไขของธนาคาร เมื่อได้รับเงินที่เหลือจากธนาคารอีก 6 แสนบาท จึงได้นำไปจ่ายให้กับผู้รับเหมารายเดิมเพื่อสร้างบ้านต่อเมื่อต้นปี 2565 รวมจ่ายเงินไปทั้งหมด 1,940,000 บาท



จากนั้นผู้รับเหมารายเดิมก็มาสร้างบ้านเพิ่มอีกเล็กน้อย ครั้งสุดท้ายคือเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รับปากว่าจะสร้างให้เสร็จพร้อมเข้าอยู่ภายใน 45 วัน หากเกินกำหนดจะให้เงินค่าปรับวันละ 1,000 บาท แต่สุดท้ายก็หายไปจนถึงวันนี้ ส่วนสาเหตุที่ยังเลือกผู้รับเหมารายเดิมทั้งที่เคยทิ้งงาน เป็นเพราะการเปลี่ยนผู้รับเหมามีเงื่อนไขของธนาคารที่ต้องดำเนินการจึงเป็นเรื่องยุ่งยาก และไม่คิดว่าจะถูกหลอกเป็นครั้งที่สอง

“ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เดือดร้อนมาก เพราะต้องจ่ายค่าผ่อนเงินกู้ให้กับธนาคารเดือนละหมื่นกว่าบาท บ้านก็ไม่ได้อยู่ แถมต้องเสียเงินค่าเช่าบ้านอยู่อีกเดือนละหมื่นบาท แทนที่จะเอาเงินส่วนนี้มาผ่อนบ้าน”

เช่นเดียวกับ นางวิไล ไชยเฟย เจ้าของบ้านที่อยู่ใกล้กัน ซึ่งนางวิไลประสบปัญหาเดียวกัน และได้จ่ายเงินไปแล้ว 1,750,000 บาท แต่บ้านก็ยังอยู่ในสภาพเหมือนบ้านร้าง ผนังในและนอกบ้านก่ออิฐบล็อกหยาบๆ ไม่มีการฉาบปูน หลังคามีแต่โครงเหล็กกับกระเบื้อง ส่วนที่เหลือไม่มีทั้งประตู หน้าต่าง ซึ่งนางวิไลบอกว่าเห็นสภาพบ้านแล้วรับไม่ได้ เจ็บใจจนเครียดสะสม นอนไม่ค่อยหลับ เป็นเรื่องที่แย่ที่สุดในชีวิต บางทีก็ไม่อยากมาดู มาดูแล้วก็ช้ำใจ หนี้ก็ต้องจ่ายธนาคาร แต่บ้านก็ไม่ได้อยู่ ทุกวันนี้ต้องผ่อนเงินกู้กับธนาคารไปเรื่อย ในชีวิตก็อยากจะมีบ้านของตัวเอง แต่ต้องมาเจอเรื่องราวถูกหลอกซ้ำซากแบบนี้จนพูดไม่ออก

วันเดียวกันนี้ นายกษาปณ์ เงินรวง รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ พร้อมผู้บริหาร ธ.ก.ส.สำนักงานเชียงใหม่ เดินทางเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อรับฟังปัญหาจากกลุ่มผู้เสียหายเพื่อหามาตรการช่วยเหลือ หลังจากรับฟังความต้องการของกลุ่มผู้เสียหาย ได้ข้อสรุปว่า ในกลุ่มที่กู้เงินและสร้างบ้านแล้วเสร็จ ทาง ธ.ก.ส.จะแบ่งเบาภาระด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ให้ผ่อนตามศักยภาพ พร้อมกับลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 8 เป็นดอกเบี้ยตามเรต MRR ที่ขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 6.5 ส่วนเงินสดที่จ่ายก็จะแบ่งเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างละครึ่งเพื่อช่วยให้ลดเงินต้นได้เร็วที่สุด

...

ส่วนกลุ่มที่ถูกทิ้งงาน ส่วนนี้เป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจภารกิจของ ธ.ก.ส. ซึ่งต้องเจรจาหาทางออกกับผู้รับเหมาที่เป็นคู่สัญญา โดยทาง ธ.ก.ส.จะส่งนิติกรเข้าช่วยเหลือประสานงานให้อย่างเต็มที่ บ้านหลังไหนที่ถูกทิ้งงานและอยากสร้างต่อให้เสร็จ สามารถเข้ามาติดต่อเพื่ออนุมัติเงินกู้เพิ่มอีก 1 สัญญา เพื่อให้นำไปสร้างบ้านต่อจนเสร็จ แต่จะต้องใช้ผู้รับเหมาที่ผ่านมาตรฐานเพื่อป้องกันปัญหาซ้ำรอยอีก

ในส่วนของการตรวจสอบความผิดปกติ โดยเฉพาะการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ที่ใช้เพียงบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน รวมทั้งมีการจ่ายเงินตรงให้กับผู้รับเหมา ตอนนี้การตั้งกรรมการสอบอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรรมการ หากพบว่ามีการทุจริตก็จะต้องดำเนินการ ส่วนวันนี้มาในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยา

ทั้งนี้ กลุ่มผู้เสียหายให้ข้อมูลกับทีมข่าวด้วยว่า จนถึงขณะนี้มีกลุ่มที่ยังสร้างบ้านไม่เสร็จและถูกทิ้งงานประมาณ 40 หลัง บางหลังยอมควักเงินตัวเอง หรือกู้เงินภายนอกมาสร้างต่อจนเสร็จ ขณะที่บางคนถอดใจทิ้งให้เป็นบ้านร้าง ส่วนผู้รับเหมารายนี้ช่วงหลังไม่สามารถติดต่อได้.