รมว.ยุติธรรม ลงพื้นที่ "พิษณุโลก" ดึงภาคสังคมแก้ปัญหายาเสพติด ชี้ ถึงเวลาทุกคนต้องตื่น ก่อนยาบ้าถมประเทศ ช่วยกันตัดวงจรด้วยการยึดอายัดเงิน มั่นใจระบบแจ้งเบาะแสมีความปลอดภัยสูง ขณะที่กองทุนแม่ฯ เชื่อความร่วมมือผู้นำชุมชนช่วยแก้ปัญหาได้

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 65 ที่โรงแรม ดิ อิมพีเรียล คอนเวนชั่นฮอลล์ จ.พิษณุโลก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานมอบนโยบายโครงการสร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด รองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. พล.ต.ต.สุรชาติ จึงดำรงกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 และ นายสมาน นวลเกิด ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดพิษณุโลก เข้าร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง

โดย นายสมาน กล่าวว่า การจัดโครงการนี้ กองทุนแม่ของแผ่นดิน ต้องการแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ซึ่งจะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติดให้กับประชาชน เพื่อจะได้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการช่วยกันแจ้งเบาะแสยาเสพติด โดยจะช่วยทำให้สังคมมีความเข้มแข็งในการร่วมกันแก้ปัญหายาเสพติด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับคนในหมู่บ้าน เพราะการแก้ปัญหาจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้นำชุมชน ประชาชน ในการช่วยกันสอดส่องไม่ให้มีคนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

...

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ได้เดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการแก้กฎหมายยาเสพติดกว่า 24 ฉบับ มาเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อเน้นตัดวงจรยึดอายัดทรัพย์ของเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด จึงทำให้การแก้ปัญหายาเสพติดเน้นไปที่การยึดอายัดทรัพย์ อย่างปี 2565 สามารถยึดอายัดทรัพย์ได้ 11,003 ล้านบาท ทำให้ปีนี้มีการตั้งเป้าอายัดทรัพย์ 1 แสนล้านบาท ซึ่งผ่านมาเพียง 1 เดือน สามารถอายัดทรัพย์ได้แล้ว 3,178 ล้านบาท โดยที่ตั้งเป้าถึง 1 แสนล้านบาท เพราะกฎหมายใหม่สามารถให้ยึดทรัพย์ย้อนหลังได้ถึง 10 ปี แต่เป้าหมายยึดทรัพย์จะสำเร็จได้ ทุกภาคส่วนต้องเข้าใจกฎหมายใหม่นี้ก่อน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องตื่นมาร่วมมือกันแก้ปัญหายาเสพติด เพราะถ้าเราไม่ตัดวงจรผู้ค้ายาเสพติดก็จะถมประเทศไทย ดังนั้นเราต้องช่วยกันยึดอายัดทรัพย์เพื่อตัดวงจร เพราะถ้ายึดแต่ยาเสพติด เขาก็จะยังมีเงินหมุนเวียนไปกระทำผิดอยู่ ซึ่งคนแจ้งเบาะแสยาเสพติดจะได้รางวัลนำจับ 5% เจ้าหน้าที่จะได้ 25% ส่วนการแจ้งเบาะแสที่ประชาชนยังกลัวคนขายยานั้น รัฐบาลจึงคิดระบบแจ้งเบาะแสยาเสพติดด้วย Blockchain และจ่ายเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซีที่มีชั้นความลับสูงมาก ดังนั้นที่บอกว่าแจ้งเบาะแสยังไม่ทันนั่ง คนขายยารู้แล้ว ก็จะเปลี่ยนไป

"ขณะนี้ยาบ้ามีกำลังการผลิตเยอะกว่าเดิมหลายเท่าตัว จากเดิมวันละ 6 หมื่นเม็ด เป็น 4 ล้านเม็ด ทำให้รัฐบาลต้องชะลอการนำเข้า-ส่งออก สารโซเดียมไซยาไนด์ และสารเบนซิลคลอไรด์ ที่ถูกนำไปผสมเป็นเบนซิลไซยาไนด์ กลายเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด เพราะจากข้อมูลแต่ละปีนำเข้ามา 1,150 ตัน แต่ส่งออกเมียนมาถึง 810 ตัน ซึ่งคำนวณผลิตยาบ้าได้กว่า 17,000 ล้านเม็ด ดังนั้นจึงมีการคุมเข้มการใช้สารเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ไปถึงมือผู้ค้ายาเสพติดได้" รมว.ยุติธรรม กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยาเสพติด เป็นสิ่งที่อันตรายต่อสังคมเป็นอย่างมาก อย่างข่าวสะเทือนขวัญ ที่ จ.หนองบัวลำภู ก็พบว่าผู้ก่อเหตุมีประวัติใช้ยาเสพติด ซึ่งกระทรวงยุติธรรมก็ต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อ ซึ่งล่าสุดก็เกิดกรณีผู้เสียชีวิต แต่มีลูกในครรภ์ด้วย โดยครอบครัวได้รับเยียวยาเพียงคนเดียว ลูกที่อยู่ในครรภ์ไม่ได้สิทธิ เพราะยังไม่เป็นบุคคลตามกฎหมาย แต่ตนก็มาดูระเบียบแล้วสามารถอุทธรณ์ได้ ซึ่งคณะกรรมการก็จะดูความเสียหายของแม่ว่ามีลูกในครรภ์ โดยก็จะเสียหายมากกว่าคนอื่น ทำให้อาจจะมีการพิจารณาเพิ่มเงินตอบแทนค่าเสียหายเพิ่มให้.