อบจ.ตาก เตรียมจัดงานบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก 69.70 เมตร ที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) อ.บ้านตาก จ.ตาก 8 ก.ค. 65 นี้

เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (30 มิ.ย.2565) ณ ลานกลางแจ้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก มอบหมายให้ นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงานบันทึกสถิติโลก ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก Guinness World Records (GWR) โดยมี นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ในฐานะผู้อำนวยการอุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก ร่วมแถลงข่าวการจัดงานในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ การจัดงานบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด (Guinness World Records) จะมีขึ้น ณ อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ซึ่งภายในงานจะมีพิธีรับมอบป้ายแสดงการบันทึกสถิติโลก ไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก ภายในหลุมที่ 1 ด้วย

...

นายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ในฐานะ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีไม้กลายเป็นหิน จังหวัดตาก เปิดเผยว่า การบันทึกสถิติโลกไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก ต่อ Guinness World Records (GWR) ครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งภายหลังจากการค้นพบไม้กลายเป็นหินยาว 69.70 เมตร ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก คณะทำงานนำโดย กรมทรัพยากรธรณีจึงมีบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ยื่นเอกสารเพี่อบันทึกสถิติโลกไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกต่อ Guinness World Records (GWR) และได้รับการประกาศรับรองสถิติโลกอย่างเป็นทางการแล้ว โดยจะมีพิธีมอบป้ายบันทึกสถิติโลก จาก Guinness World Records (GWR) ในเร็วๆ นี้

โดยไม้กลายเป็นหินมีความยาวที่สุดในโลกที่บันทึกสถิติในปัจจุบันก่อนหน้า เป็นไม้กลายเป็นหินพบที่มณฑลซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีความยาวเพียง 38 เมตรเท่านั้น ทั้งนี้ แหล่งไม้กลายเป็นหิน จังหวัดตาก เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการด้านธรณีวิทยา วนศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา ซึ่งมีความสำคัญในการจัดตั้งอุทยานธรณีระดับประเทศ และยกระดับสู่การเป็นอุทยานธรณีระดับโลกต่อไป อีกทั้ง สามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญอันก่อให้เกิดการสร้างรายได้แก่ชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง

สำหรับความเป็นมาของการค้นพบไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก อยู่ที่ จังหวัดตาก นั้น ขุดพบครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 โดยการนำของ นายวชิระ ม่วงแก้ว ป่าไม้เขตตาก (ในสมัยนั้น) ได้ทำการขุดเปิดหน้าดินจนสุดลำต้นเมื่อปี 2548 ความโตเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1.80 ม. ยาว 72.22 ม หลังขุดค้นพบ ถูกน้ำท่วมขัง ทำให้ เกิดการกัดกร่อน เหลือเพียงปัจจุบัน 69.70 เมตร เทียบเท่ากับความสูงของตึก 20 ชั้น เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 เมตร มีอายุไม่ต่ำกว่า 120,000 ปี จากการตรวจสอบพบเป็น "ต้นทองบึ้ง" ซึ่งไม่พบในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันแล้ว แต่พบมากในพื้นที่ป่าดิบชื้นทางภาคใต้และบริเวณคาบสมุทรมลายู นอกจากนี้ยังมีไม้กลายเป็นหินที่ขุดพบมากมาย รวมทั้งหมด 7 ต้น ซึ่งบางต้นยังมีลักษณะที่ค่อนข้างรูปร่างสมบูรณ์

...

สำหรับอุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก ได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับท้องถิ่นเมื่อปี พ.ศ. 2560 ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านตาก อ.สามเงา อ.เมืองตาก และบางส่วนของ อ.แม่สอด (ต.พะวอ และ ต.ด่านแม่ละเมา) อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก มีความสำคัญโดดเด่นทางธรณีวิทยา คือ พบฟอสซิลไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่จำนวนมาก จำนวน 7 ต้น และพบโผล่กระจัด กระจายในพื้นที่ 35 ตารางกิโลเมตรของอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหลุมขุดค้นที่ 1 ที่พบไม้กลายเป็นหินที่มีความยาวถึง 69.70 เมตร ซึ่งเป็นต้นที่ได้รับการบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ในครั้งนี้ สำหรับจุดอื่นของอุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก ยังมีน้ำตกลานสาง เขื่อนภูมิพล ผาสามเงา เป็นต้น

ไม้กลายเป็นหิน เป็นฟอสซิลชนิดหนึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเกิดจากซากต้นไม้จะถูกแทนที่ด้วยน้ำบาดาลซึ่งมีสารละลายของซิลิก้า และเกิดจากการตกตะกอนกลายสภาพเป็นหินอย่างช้าๆ คือแทนที่แบบโมเลกุลจนกระทั่งกลายเป็นหินทั้งหมดโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้างอีก ปกติซิลิก้าในเนื้อไม้จะมีอยู่ในรูปของโอปอล์และคาลซิโดนี่ ทำให้มีสีสันหลากหลายสวยงาม ลักษณะการเกิดของไม้กลายเป็นหินเช่นนี้จะทำให้สภาพรูปร่างและโครงสร้างดั้งเดิมของซากต้นไม้จะถูกเก็บไว้ไม่ว่าจะเป็นวงปี เปลือก ราก กิ่ง และหน่อ

...

ไม้กลายเป็นหินมักฝังตัวอยู่ในชั้นกรวด คาดว่าจะเกิดสะสมตัวในยุคควอเตอร์นารี ตอนต้น เป็นบริเวณต่อเนื่องระหว่างตะกอนตะพักระดับสูง และตะกอนตะพักระดับปานกลาง และล้อมรอบด้วยตะกอนตะพักระดับต่ำ อายุประมาณ 120,000 ปีจากการแพร่กระจายของตะกอนตะพักที่ปรากฏน่าจะเกิดจากการสะสมตัวบริเวณตะพักคุ้งน้ำของแม่น้ำปิงโบราณ ก่อนที่จะมีการปรับสภาพ และเปลี่ยนทางเดินกลายเป็นแม่น้ำปิงในปัจจุบัน ไม้กลายเป็นหินจะเป็นกุญแจดอกหนึ่งที่ไขไปสู่ความเป็นมาของโลกในอดีต เพื่อให้ทราบถึงประวัติของบรรพชีวิน พฤกษศาสตร์ และภูมิศาสตร์ บรรพกาล ตลอดจนอายุและความเป็นมา และพัฒนาการของโลก

ดังนั้น ไม้กลายเป็นหินจึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่หายาก และมีคุณค่าทั้งในด้านวิชาการเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และการเป็นมรดกของแผ่นดินในประเทศไทยจะพบไม้กลายเป็นหินแพร่กระจายอยู่ทั่วไป แต่พบมากในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนภาคอื่นๆ มีพบบ้างแต่เล็กน้อย.