แขวงทางหลวงน่านที่ 1 แจงโซเชียลโพสต์เสาหลักลายยัดไส้ไม้ไผ่เกรงว่าจะทุจริตนั้น ยืนยันว่าไม่จริง เป็นรุ่นใหม่ทำจากยางพารา ไม้ไผ่ใส่เพื่อเป็นแกนยึดให้คงรูป แม้ต้นทุนสูง แต่รับซื้อยางได้มากขึ้น

กรณีเกิดกระแสดราม่าเรื่องเสานำทาง หรือ เสาหลักลาย ริมทางข้างถนน ในสื่อสังคมออนไลน์ หลังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความพร้อมภาพประกอบในกลุ่ม เล่าขวัญเมืองน่าน ว่า “ขอโทษครับ เช้านี้ขับรถไปทำงาน พอดีปวดฉี่เลยจอดแวะข้างทาง สงสัยผมจะฉี่แรงไปหน่อย หลักลายเลยแตก เลยทำให้ทราบว่า ข้างในมันเป็นแบบนี้นี่เอง 555” หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ทำให้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นต่างๆ อาทิ เป๋าตุงกันเลยทีเดียว/ กินแม้กระทั่งเสาหลักลายนะผู้รับเหมา/ นี่มันเสาหลักลายของจริงข้างในเป็นเสาของนอกทาสีลายดำขาว/ ขอหัวเราะหน่อยเพิ่งคยเห็น/ สอดไส้คาราเมล/ เหล็กเส้นในเสารุ่นใหม่เมื่อก่อนเรียกเหล็กปล้องอ้อยเดี๋ยวนี้เรียกเหล็กปล้องไผ่/ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบด้วยครับ/ หรือบางท่านโพสต์ข้อความเรียกร้องให้ ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวไทยรัฐลงพื้นที่ตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้งข้อมูล บนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1168 สายภูเพียง-แม่จริม ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 10 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 14 พบเสาหลักนำทาง (หลักลาย) ในช่วงดังกล่าวมีลักษณะแปลกจากปกติ จากการลงไปตรวจสอบพบว่าเป็นเสาหลักนำทาง (หลักลาย) ชนิดใหม่ที่ผลิตโดยใช้ยางพารา โดยหลายต้นได้รับความเสียหายปริแตก หักโค่น และถูกไฟเผา ทำให้เห็นสภาพแกนกลางข้างในว่ามีไม้ไผ่อยู่

...

จากการลงพื้นที่สำรวจ ประมาณกิโลเมตรที่ 13 เป็นบริเวณที่มีการถ่ายรูปนำมาโพสต์ พบหลักนำทาง (หลักลาย) 1 ต้น มีลักษณะปริแตกและมีไม้ไผ่เป็นแกนกลาง สาเหตุอาจเกิดจากอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชน จากการสำรวจพบว่า ระหว่างกิโลเมตรที่ 10-14 มีการใช้เสาหลักนำทางที่ผลิตจากยางพารา จำนวน 260 ต้น เสียหายไป 5 ต้น มีทั้งหักและปริแตก และก็เกิดจากไฟไหม้

นายนรินทร์ เอี่ยมทอง รองผู้อำนวนการทางแขวงทางหลวงน่านที่ 1 ชี้แจงว่า เรื่องหลักนำทางสอดไส้ไม้ไผ่ แขวงน่านที่ 1 ได้รับงบประมาณในการจัดชื้อหลักนำทางยางพาราในปี 2564 โดยเป็นนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราของรัฐบาลให้นำมาติดตั้งแทนเสาคอนกรีตที่มีอยู่ และเพิ่มเติมในส่วนที่ติดตั้งไม่ครบ เพื่อช่วยเหลือลดการสูญเสียจากการชน และใช้เป็นแนวนำทางในการขับรถ ไม่ได้ป้องกันรถชน เพราะถ้าชนไม่ว่าเป็นเสาคอนกรีต หรือเสายางพาราก็กั้นไม่อยู่ ในส่วนที่มีไม้ไผ่ในเสาเพื่อเป็นการช่วยในการติดตั้งให้ไวขึ้น เนื่องจากตอนได้เสามาใหม่ๆ เสามีความอ่อนทำให้การติดตั้งนั้นเป็นไปได้ยาก จึงได้นำไม้ไผ่สอดข้างในเพื่อเป็นหลักยึดในการติดตั้ง ส่วนไม้มันมีการสูญสลายภายในไม่กี่เดือน และแขวงฯน่านที่ 1 ได้ติดตั้ง และได้ตามแบบมาตรฐานของกรมทางหลวง จึงเป็นสาเหตุทำให้ผู้ที่พบเห็นว่ามีไม้ไผ่ด้านในนั้นเหมือนการคอร์รัปชัน สอดไส้เสาหลักเพื่อลดต้นทุนนั้นไม่จริง

โครงการดังกล่าว กรมทางหลวงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมการใช้ยางพาราร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งเป้าหมายรัฐบาลให้กรมใช้ยางพาราน้ำ จำนวน 9,000 ตันต่อปี ซึ่งกรมจะใช้ในรูปแบบพาราสลาลี่ซีล และพาราแอสฟัลท์ จำนวน 5% และมีค่าใช้จ่ายสูง ในปี 2561 ใช้ในการฉาบผิวถนนไปแล้ว 1,000 ตัน อีก 8,000 ตัน หากนำมาใช้แบบเดิมจะมีค่าใช้จ่าย 4,000 ล้านบาท

...

ทางกรมทางหลวงจึงได้หารือร่วมกับการยาง เปลี่ยนยางพาราน้ำเป็นแผ่น ใช้กับเสาหลักนำทาง ที่กั้นขอบทาง ทางเท้า และหลักกิโลเมตร โดยเสาหลักนำทางใช้ยางประมาณ 15 กิโลกรัมต่อ 1 ต้น งบในการจัดซื้อยางจากงบเหลือจ่ายไม่เกิน 500 ล้านบาท ตั้งเป้าต่อปีใช้ประมาณ 120,000-130,000 ต้นทั่วประเทศ ต้นทุนต่อต้นประมาณ 2,600-2,700 บาท จากเดิมหลักคอนกรีต 800 บาทต่อต้น ต้นทุนแพงกว่าแต่สามารถช่วยรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรได้มากว่าเดิม นอกจากนี้ในอนาคตจะขอความร่วมมือการยางฯ ในการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้ยางพารา เช่น แบริเออร์ก่อสร้างที่ใช้ยางพาราไม่ต่ำกว่า 250 กิโลเมตร และที่กั้นขอบทาง.