(ภาพจาก : จส.100)
ผู้ลี้ภัยค่ายบ้านแม่หละ จ.ตาก จำนวนนับหมื่นคน รวมตัวประท้วงขับไล่ปลัดอำเภอ หลังมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่อาสาฯ ทำร้ายร่างกายผู้ลี้ภัย 4 คน
เว็บไซต์ จส.100 รายงานอ้างการเปิดเผยของสำนักข่าวชายขอบ ว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 เวลาประมาณ 17.00-19.30 น. เกิดเหตุชุมนุมประท้วงและกลายเป็นการจลาจลขึ้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายนับพันออกมาประท้วงเนื่องจากไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ไทยนำตัวผู้อาศัยอยู่ในค่าย 2 คน ซึ่งขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหน้ากากอนามัยลงจากรถพร้อมยึดรถจักรยานยนต์ไป
ขณะที่แหล่งข่าวผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงในพื้นที่พักพิงบ้านแม่หละ บอกกับสำนักข่าวมติชน ว่า สาเหตุของการชุมนุมประท้วงครั้งนี้มาจากมีผู้ลี้ภัย 4 คนออกไปทำงานนอกพื้นที่พักพิง และขากลับถูกเจ้าหน้าที่ อส.พบ จึงถูกควบคุมตัว จากนั้นมีการทำร้ายร่างกาย จนสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ลี้ภัย กระทั่งเกิดเหตุดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประท้วงก่อเหตุทำลายประตูอาคาร ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของไทยต้องใช้อาวุธเพื่อปราบปรามเหตุประท้วง ส่งผลทำให้กลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงไม่พอใจ พากันออกมารวมตัวกดดันขับไล่ นายปรีดา ฟุ้งตระกูลชัย ปลัดอำเภอท่าสองยางฯ นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในพื้นที่พักพิงฯ ยังได้บุกเข้าทำลายทรัพย์สินของสำนักงานปลัดฯ หน.ศูนย์พักพิงแม่หละ
เบื้องต้นมีรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายจำนวน 4 คัน และรถยนต์กระบะ จำนวน 2 คัน ส่งผลทำให้ศูนย์พักพิงแม่หละได้ประสานขอกำลังทหารพราน ฉก.35 เข้าควบคุมสถานการณ์ แต่จนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. การชุมนุมก็ยังไม่ยุติ
ล่าสุดได้มีคำสั่งด่วนให้ชุดตำรวจควบคุมฝูงทุกอำเภอในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากทั้งในพื้นที่เกิดเหตุและจากอำเภอข้างเคียงมีการสั่งเรียกกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนให้เตรียมความพร้อมและพร้อมออกปฏิบัติการได้ทันทีหากมีการร้องขอกำลัง ซึ่งขณะนี้มีรายงานว่ากลุ่มฝูงชนได้ขยายการก่อเหตุโดยมีการจุดไฟเผาทรัพย์สินไปอีกหลายจุดแต่ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ และอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ชั่วโมงต่อชั่วโมง
...
สำหรับ ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ หรือที่ราชการเรียกว่า “พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ” นั้นเป็นค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่บนพื้นที่ 1,150 ไร่ โดยค่ายแห่งนี้จำนวนผู้หนีภัยจากการสู้รบประมาณ 43,715 คน โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงร้อยละ 80 เป็นชาวมุสลิมร้อยละ 15 ที่เหลือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ
ในอดีตค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละเคยเป็นที่พักพิงให้ผู้คนมากถึง 60,000 คน โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองพม่ายังเต็มไปด้วยความตึงเครียด และไม่ได้มีความผ่อนคลายมากเท่าในปัจจุบัน.