พูดถึง “ศูนย์เรียนรู้” เกษตรกรไม่น้อยร้องยี้ เบื่อถูกเกณฑ์ให้ไปนั่งอบรม เสียเวลาทำมาหากิน แม้บางคนจะรู้สึกดีใจที่ได้ไปอบรมเพราะมีอาหารกินฟรี มีเบี้ยเลี้ยงให้ แถมยังได้รับของแจกติดไม้ติดมือกลับบ้าน
ส่วนความรู้ที่ได้แทบไม่มีอะไรใหม่ การอบรมมีแต่บรรยายในเรื่องเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก วิทยากรพูดแล้วฟังไม่รู้เรื่อง เพราะมีแต่เรื่องไกลตัว ชาวบ้านจับต้องไม่ได้
เป็นความรู้สึกลึกๆของชาวบ้านที่เกิดขึ้นกับศูนย์เรียนรู้จัดตั้งโดยหน่วยงานของรัฐ
แต่วันนี้บ้านเรายังมีศูนย์เรียนรู้อีกแบบ จัดตั้งโดยคนธรรมดา ไม่มียศศักดิ์ มีแค่ดีกรีอดีตเคยเป็นครูเท่านั้นเอง แต่สามารถพัฒนาศูนย์เรียนรู้ได้แบบโดนใจชาวบ้าน แถมเข้ายุคสมัย new normal ให้ความรู้ทางออนไลน์ ที่ทำมาก่อนโควิดจะระบาดซะอีก
ศูนย์เรียนรู้ที่ว่า...ศูนย์เรียนรู้ บ้านเรียน ต.ม่วงคำ อ.พาน จ.เชียงราย
ชื่อศูนย์เรียนรู้ บอกความหมายตรงๆอยู่แล้วว่า เรียนรู้อยู่กับบ้านผ่านทางโทรศัพท์มือถือ
“ศูนย์เรียนรู้ของเราก่อตั้งมา 9 ปีแล้ว ตอนยังรับราชการเป็นครู มีแรงบันดาลใจมาจาก ลูกศิษย์ อยากจะทำเกษตร แต่เขาไม่สามารถเรียนต่อได้เพราะเป็นเด็กพิเศษ สมาธิสั้น เลยใช้เวลาว่างเข้าไปสอนให้เขาได้ทำเกษตร พอได้ไปคลุกคลีชาวบ้าน เลยได้เห็นปัญหา ทำไมเกษตรกรบ้านเราถึงมีปัญหาผลผลิตไม่มีคุณภาพ ขายไม่ค่อยได้ ที่ปลูกๆกันนั้น ได้แต่ทำตามๆกันมา ไม่มีความรู้เรื่องเกษตรเลย แม้แต่เรื่องทำเกษตรพอเพียง ปลูกไว้กิน มีเหลือขาย ปลูกถั่วฝักยาว แตงกวา แทนที่จะทำค้างให้พืชเลื้อยขึ้น กลับปล่อยให้เลื้อยไปตามรั้ว เลื้อยขึ้นไม้ผล ต้นไม้อื่นบ้าง นอกจากจะทำให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ ยังทำให้ไม้ผลให้ลูกไม่สมบูรณ์อีกต่างหาก
...
การปลูกผักที่ต้องการแดด กลับเอาไปปลูกในที่ร่ม ใต้ต้นไม้ ผลผลิตก็ไม่สวยไม่ได้คุณภาพ ขายไม่ได้ราคา ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาพื้นๆที่เกษตรกรมองไม่เห็น เลยคิดว่า ถึงเวลาที่ต้องตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้นมา แรกๆ ก็ทำเหมือนศูนย์เรียนรู้ทั่วไป แต่ของเราจะใช้วิธีเข้าไปให้ความรู้แบบตัวต่อตัวกันเลย และเมื่อมีคนสนใจมากขึ้น ได้พัฒนาให้มาเรียนรู้ปฏิบัติจริงที่ศูนย์ฯ หรือไม่ก็ให้สมาชิกมารวมกลุ่มเรียนกันที่บ้านสมาชิก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในเรื่องค่าใช้จ่าย”
อ.ศักรินทร์ จักรสาร อดีต ผอ.ร.ร.วัดเหมืองว่าพิเศษวิทยา อ.พาน ประธานศูนย์เรียนรู้ บ้านเรียน พูดถึงที่มาของศูนย์เรียนรู้ฯ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2555....หลังจากก่อตั้งได้ 4-5 ปี สมาชิกในเครือข่ายมีมากขึ้น เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียนรู้ของสมาชิก ปี 2560 เลยเกิดการอบรมให้ความรู้ทางออนไลน์ ทำเป็นคลิปวิดีโอเผยแพร่ให้สมาชิกและผู้สนใจได้เรียนรู้และถามตอบได้ทางแอปฯ ไลน์ : @Lanpinali
เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงยุคโควิด สมาชิกที่เคยมีอยู่ 900 คน เพิ่มมาเป็น 1,500 คน การให้ความรู้เลยมีการปรับเปลี่ยนมาเน้นให้คนตกงานที่ไม่เคยทำเกษตรมาได้รู้จักวิถีการทำเกษตรแบบพอเพียง ปลูกไว้กิน มีเหลือขาย บ้านเช่าเขาอยู่ มีที่เล็กน้อย ต้องปลูกอะไร ทำยังไงให้พออยู่พอกิน รอดจากวิกฤตินี้ได้
“เมื่อก่อนทำงานรับจ้างอยู่ในรีสอร์ต เจอโควิดต้องตกงาน เลยเอาที่ว่างๆข้างบ้านมาปลูกผัก ตรงไหนมีที่ว่าง หว่านเม็ดพันธุ์ไปทั่ว ปลูกผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดจอ กล้วย ปลูกทุกอย่างที่กิน มีเหลือก็ขาย ถามว่าพออยู่พอกินมั้ย บอกได้แต่ว่า ค่าเช่าบ้านยังต้องยืมเงินเพื่อนมาจ่ายบังเอิญมีอยู่วันหนึ่งเอาผักมาขาย มีคนมาเหมาซื้อไปหมด จะเอาไปทำกับข้าวไปเลี้ยงสมาชิกที่มาทำกิจกรรมของศูนย์บ้านเรียน เลยสนใจลองให้ลูกค้นหาในโทรศัพท์ จนกระทั่งได้ติดต่อกัน อ.ศักรินทร์ ส่งคนมาดูแลแนะนำให้ความรู้ ทุกอย่างที่เราทำมา ผิดหมด”
...
น.ส.ดี ปะฮะ วัย 54 ปี อดีตลูกจ้างตกงานจากรีสอร์ต หันมาปลูกผักเลี้ยงชีพสู้วิกฤติโควิด ที่บ้านสันโค้งเก่า ต.ทรายมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในชาวบ้านที่ได้ความรู้เรื่องเกษตร จากศูนย์ฯ บ้านเรียน...จนต้องปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกใหม่ จากการปลูกแบบหว่านเหวี่ยงแหในทุกที่ที่มีดิน
เปลี่ยนมาเป็นปลูกผักแบบยกแปลง พร้อมวางแผนการผลิต ทำแปลงปลูกทั้งหมด 20 แปลง แต่ละแปลงทยอยปลูกห่างกัน เพื่อจะได้มีผักหมุนเวียนวางขายหน้าบ้านได้ทุกวัน ตลอดทั้งปี
...
ไม่ใช่ทำแบบก่อนหน้านี้ หว่านเหวี่ยงแหเมล็ดพันธุ์ไป 1 ครั้ง ครบ 45 วันเก็บเกี่ยว...ไม่มีผักให้ขายทุกวัน เพราะต้องรอปลูกใหม่อีกรอบ
ด้วยหลักคิดหลักเรียนรู้แบบง่ายๆ ที่ใครหลายคนมองข้าม...แต่สิ่งที่ น.ส.ดี ได้รับในวันนี้ เธอบอกได้เพียงสั้นๆ ว่า เงินค่าเช่าบ้านไม่ต้องไปยืมเพื่อนมาจ่ายแล้ว และยังพอมีเงินให้ลูกๆ ใช้จ่ายได้อีกเล็กน้อย.
ชาติชาย ศิริพัฒน์